Saturday, 4 May 2024
กสทช

‘ทรู-ดีแทค’ ขานรับ ‘กสทช.’ ผนึกกำลังสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพิ่มมาตรการระงับเบอร์โทรต้องสงสัย เสริมเกราะป้องกันให้ลูกค้า

(13 ธ.ค. 66) จากกรณีภัยคอลเซ็นเตอร์และกลโกงทางไซเบอร์ ทำความเสียหายให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ มีความห่วงใยและพร้อมเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ กับทุกภาคส่วน โดยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ‘กสทช.’ สนับสนุนมาตรการขจัดภัยไซเบอร์ของรัฐบาล โดยมุ่งไปที่เบอร์โทรต้องสงสัยที่โทรออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดปกติ โดยจะดำเนินการส่ง SMS ไปยังหมายเลขต้องสงสัยทั้ง ‘ทรูมูฟ เอช’ และ ‘ดีแทค’ พร้อมระงับการใช้เบอร์ทันที เพื่อให้ติดต่อกลับยืนยันตัวตน ว่าเป็นผู้ใช้งานจริงและดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบในการใช้บริการ โดยสามารถติดต่อกลับที่คอลเซ็นเตอร์ทรู 1242 ดีแทค 1678 หรือทรูชอป และศูนย์บริการดีแทค

นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่มาในหลากหลายรูปแบบ สร้างความเดือดร้อนในวงกว้าง จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันขจัดภัยอย่างจริงจัง ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการดูแลลูกค้าทุกคนให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามที่มาจากยุคดิจิทัล และต้องการร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนกับทุกภาคส่วน จึงพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐฯ ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กสทช. สนับสนุนมาตรการขจัดภัยไซเบอร์ของของภาครัฐ ที่กำหนดให้ระงับการใช้เบอร์โทรต้องสงสัยที่มีการใช้งานโทรออกมากผิดปกติ ซึ่งทั้งดีแทค และทรูมูฟ เอช มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ จะดำเนินการส่ง SMS และระงับการใช้งานเบอร์ที่ต้องสงสัยทันที ซึ่งเป็นเลขหมายแบบเติมเงินเท่านั้น ไม่รวมถึงเลขหมายแบบรายเดือน หรือเบอร์ที่ลงทะเบียนภายใต้หน่วยงานหรือองค์กร

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้บริการ พร้อมดูแลลูกค้าคนสำคัญเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว โดยกรณีที่เป็นผู้ใช้งานจริงและใช้งานอย่างถูกต้อง สามารถติดต่อกลับที่คอลเซ็นเตอร์ดีแทค 1678 หรือทรู 1242 และ ทรูชอป หรือศูนย์บริการดีแทค เพื่อยืนยันตัวตน ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่จะเดินหน้ายกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อยับยั้งความเสียหายได้อย่างทันท่วงที เสริมเกราะป้องกันลูกค้าและคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”

ผลสำรวจชี้ ‘เน็ตช้าลง’ หลังทรูควบรวมดีแทค ผู้บริโภควอน!! ได้เท่าก่อนควบรวมกิจการก็ยังดี

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน หลัง ‘ทรู’ ควบรวม ‘ดีแทค’ พบว่า ผลกระทบที่ผู้บริโภคสะท้อนเป็นอันดับ 1 คือ ‘อินเทอร์เน็ตลดสปีด’ ผิดเงื่อนไข ร้อยละ 81 ทางมูลนิธิฯ เตรียมนำผลสำรวจนี้เสนอให้ ‘กสทช.’ เร่งดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา

(15 ธ.ค. 66) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นผลกระทบของผู้บริโภค หลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง ทรูกับดีแทค (TRUE-DTAC) โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 9-23 พ.ย.2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 3,000 คน พบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ คอลเซ็นเตอร์โทร.ติดยาก
.
ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้ มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริหารโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือ ดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ และสัญญาณความเร็วต้องใช้ได้จริงตามแพ็กเกจที่ลูกค้าซื้อ ส่วนเพดานค่าบริการต้องลดเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ทันที รวมทั้งเสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายจุดรับสัญญาณ

จากผลสำรวจนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำไปเสนอต่อผู้ให้บริการและ ‘กสทช.’ ให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา 

ด้าน ‘นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา’ อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนปัญหาจากผู้ใช้บริการจริง ทาง กสทช.ควรเร่งตรวจสอบศึกษาผลกระทบ การควบรวมเครือข่ายมือถือ กำหนดบทลงโทษจริงจังกับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ

อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า กรณีมีผู้ร้องเรียนเรื่องการลดจำนวนเสาสัญญาณที่อยู่ใกล้กัน เพื่อบริหารต้นทุน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ของเสาสัญญาณทรูและดีแทค แต่จำนวนผู้ใช้สัญญาณมาจาก 2 โครงข่ายจึงแย่งกันใช้มากขึ้น ทำให้ความเร็วสัญญาณลดลง ซึ่ง กสทช. ควรเข้าไปตรวจสอบ เพราะการลดจำนวนเสาสัญญาณ ต้องขออนุญาต กสทช. หากไม่ขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุว่า การพักหรือหยุดให้บริการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจะต้องขอความเห็นชอบก่อน

‘กสทช.’ ยัน!! ตรวจผลทำงาน ‘ทรู-ดีแทค’ ละเอียดยิบ พบ ‘คุณภาพสัญญาณ-ค่าบริการ’ ยังทำตามเงื่อนไข

(19 ธ.ค.66) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ทางสำนักงาน กสทช. ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินตามมาตรการเยียวยาของการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบจะต้องเสนอรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. รับทราบก่อนจึงจะมีการเปิดเผยได้ หลังรวมธุรกิจฯ ทาง TRUE ก็ได้มีการส่งรายงานมาแล้วและมีการจัดทำรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ หมดวาระลงในวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่า TRUE ยังคงยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขภายหลังการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มาโดยตลอด แต่ปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสารที่ออกไปยังสาธารณะ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดก่อให้เกิดความสับสนของผู้ได้รับข้อมูล อาทิ ประเด็นการลดเสาสัญญาณ ทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง ซึ่ง TRUE ได้มีการชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่มีการร้องเรียนเรื่องของเสาสัญญาณที่มีจำนวนมาก โดยภายหลังการรวมธุรกิจรวม TRUE-DTAC จะต้องมีการสำรวจพื้นที่จุดซ้ำซ้อน และทำการโยกย้ายสถานีฐาน ไปในจุดที่สัญญาณดีกว่าไปรวมไว้กับเสาที่คงไว้ ก่อนจะยุบเสาเปล่าออกไป เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษทางสายตา และยืนยันว่าคุณภาพการส่งสัญญาณยังคงเดิม แต่ได้มีการตำหนิ TRUE เกี่ยวกับการแจ้งดำเนินการยุบเสาสัญญาณและย้ายสถานีฐานให้ผู้ใช้บริการรับทราบก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของการประเด็นเกี่ยวกับอัตราค่าบริการที่เฉลี่ยลดลง 12% จะใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละรายการส่งเสริมด้านการขายภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้มีการรวมธุรกิจ ทาง TRUE ได้ส่งข้อมูลให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบ โดย กสทช.ได้ทำการสุ่มตรวจสอบข้อมูล ซึ่งการลดราคาในการลดค่าเฉลี่ยว่าแพ็กเกจไหนประชาชนใช้เยอะ กสทช.จะนำมาเฉลี่ยผลลัพธ์ออกมา จากการตรวจสอบก็พบว่า TRUE ยังทำตามมาตรฐานที่ได้กำหนด

สำหรับการเฉลี่ยราคาโดยการถ่วงน้ำหนักจากแพ็กเกจที่มีผู้ใช้มาก ที่ว่าลดลง 12% นั้น ค่าเฉลี่ยนั้นคือราคาเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องเสนอ บอร์ด กสทช. รับทราบก่อน ขณะที่ประเด็นของแพ็กเกจราคา 299 บาท และมีแพ็กเกจอื่นๆ ที่หายไปยืนยันว่าปัจจุบันยังมีการให้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดใช้บริการ 30 วัน แพ็กเกจจะหมดอายุ ผู้ให้บริการจะให้ผู้บริโภคเลือกว่าจะต่อแพ็กเกจเดิม หรือใช้แพ็กเกจใหม่ที่กำหนดได้ไม่มีการบังคับการเลือกใช้แพ็กเกจ รวมถึงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณที่ก่อนควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มีจำนวน 944 เรื่อง แบ่งเป็นของ TRUE  637 เรื่อง และ DTAC 307 เรื่อง และหลังควบรวมธุรกิจมี 836 เรื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณแค่ 17 เรื่อง

ด้าน พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า หลังการรวมธุรกิจของ TRUE-DTAC นั้น จากข้อมูลได้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนเริ่มที่กระบวนการติดตามการดำเนินการเรื่องควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ตามเงื่อนไขหลังควบรวมทั้งสิ้น 19 ข้อ ซึ่งที่ผ่านมา TRUE ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขในระยะเวลาที่กำหนด มีเพียงเรื่องการว่าจ้างคณะที่ปรึกษามาประเมินเรื่องราคาและคุณภาพ ตามเงื่อนไข ซึ่งติดที่คณะอนุฯ หมดวาระและได้ขยายระยะเวลาการทำงานของคณะอนุฯ นี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลของประธานอนุกรรมการผู้บริโภค ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการติดตามฯ เป็นเหตุที่ทำให้บอร์ด กสทช.ทั้ง 4 ท่าน ทำเรื่องเสนอประธาน กสทช. นำเรื่องเข้าที่ประชุม โดยเรื่องการติดตามหลังควบรวมธุรกิจฯ ได้ถูกบรรจุในวาระการประชุมมาโดยตลอด แต่การประชุมครั้งที่ผ่านๆมา ยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จะมีการนำเรื่องนี้มาหารือ

'กสทช.' ไฟเขียว!! 'ม.อ.' ได้ใช้ Starlink ของ 'อีลอน มัสก์' รายแรกในไทย หนุนภารกิจช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและพื้นที่ห่างไกล 6 เดือน

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink : 14-14.5 GHz และ Downlink : 10.7-12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

สำหรับใช้ในการทดลองทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นดินไปไม่ถึง เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน

Starlink เป็นโครงการสร้างโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โดยไม่ต้องใช้สาย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX ของมหาเศรษฐี ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของ Tesla และทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน โครงข่าย Starlink สามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์ได้ราว 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่สงครามอย่างยูเครน-รัสเซีย

ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันโครงข่ายของ Starlink เข้าถึงประชากร 2.3 ล้านคน ใน 70 ประเทศแล้ว

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณีนี้ว่า เป็นการพิจารณาตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร้องขอ ซึ่งเดิมมหาวิทยาลัยเคยได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการพัฒนา 5G Usecase มาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

“ครั้งนี้ต้องการทดลองทดสอบนวัตกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามเกาะแก่ง หรือตามป่าเขา ที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม Starlink มาทดลองทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Broadband)”

แม้ว่าจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ku Band เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 8 ที่ใช้งานแพร่ภาพโทรทัศน์ (Broadcast) แต่ก็ไม่ทับซ้อนกัน โดยที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้ Downlink : 12.272-12.604 GHz และไทยคม 8 ใช้ Downlink : 11.48-11.70 GHz

“กสทช. ก็มีข้อสังเกตในการทดลองทดสอบครั้งนี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดคลื่นความถี่รบกวนกันด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้งานจริงควรทดสอบก่อน โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงข่ายกรณีภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตเรือที่ประสบภัย”

การทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เป็นกลุ่มดาวเทียมใช้งาน Broadband เช่นนี้

สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทยที่ กสทช.ประมูลและอนุญาตในต้นปีที่ผ่านมาเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geo-Stationary Earth Orbit : GEO) และการอนุญาตในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

“หากให้มหาวิทยาลัยได้ทำการทดลองทดสอบเพื่อได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความแตกต่างกัน และได้องค์ความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้นหาและช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัย จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์กล่าว

กสทช.ออกมาตรการกำจัดซิมการ์ด ที่อยู่ในความครอบครองของมิจฉาชีพ

วันที่ 12 ม.ค. 67 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปีตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการฯ แถลงถึง มาตรการของ กสทช. กำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.67 นี้เป็นต้นไป หากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ได้กล่าวว่า ซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องมี

และใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรหาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงค์, โอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต  กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้

1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน
หากไม่มายืนยันตนในกำหนด จะถูกพักใช้ ระงับการโทรออกและการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นโทรเบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด
โดยในระยะแรกจะเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมการ์ด จำนวน 101 เลขหมายขึ้นไปเข้ามายืนยันตัวตนก่อน เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตน มีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย มาตรการดังกล่าว กสทช. ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตราการ อาทิเช่น การระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบที่คนร้ายใช้อยู่เป็นประจำหรือไม่ทราบแหล่งที่มา, เพิ่ม Prefix +697 และ +698 หน้าเลขหมายการโทรเข้าจากต่างประเทศผ่าน VOIP และ Roaming ตามลำดับ, การจัดทำบริการ *138 ปฏิเสธการรับสายต่างประเทศ, จัดระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ส่งข้อความไปยังผู้รับจำนวนมากๆ (Sender name), จำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมการ์ด

และยกเลิกการส่ง SMS แนบลิ้งค์ บางประเภท เป็นต้น การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฏหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวของ กสทช. มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากมายืนยันตัวตน จะทราบตัวผู้ใช้งานที่แท้จริง หากไม่มายืนยันตนในกำหนด ซิมการ์ดนั้นจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนจากระบบไปในที่สุด เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของพวกมิจฉาชีพแล้ว

ทำให้จำนวนซิมผีในตลาดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่าย จะเป็นผู้พัฒนารูปแบบและวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าของตน และมีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ถือครองซิมการ์ด ที่เข้าข่ายให้มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กระทบต่อผู้ใช้บริการที่สุจริตน้อยที่สุด

กสทช. กำชับมือถือทุกค่ายระงับสัญญาณซิมเถื่อน หลังครบกำหนดยืนยันตัว สำหรับผู้ถือครองมากกว่า 101 ซิมพร้อมผนึกกำลังตำรวจเอาผิดคนสวมชื่อเปิดซิมผี

วันนี้ (15 ก.พ. 67) เวลา 13.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เป็นประธานประชุม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (ผู้ให้บริการเอไอเอส), บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ผู้ให้บริการ ทรู และ ดีแทค) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือถึงมาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการที่ถือครองซิมการ์ด หลังพ้นกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตน พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กสทช., ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขยายผลเอาผิดกับผู้ปลอมแปลงเอกสารในการจดทะเบียนซิม ป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์

พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ได้กล่าวว่า จากแนวคิดในการจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มีการปลอมแปลงเอกสารในการจดทะเบียนซิม โดย กสทช. ได้ออกมาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการที่ถือครองซิมการ์ด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ตามมาตรการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน  ซึ่งขณะนี้ในส่วนกลุ่มที่สอง (ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป) ได้ครบกำหนดแล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 ที่ผ่านมา กสทช. จึงได้ประชุมเร่งรัดให้ผู้ประกอบการทุกค่าย ดำเนินการระงับบริการ ตามเงื่อนไข ทั้งในส่วนของการโทรออก, การส่งข้อความ SMS 

และการใช้งานอินเตอร์เน็ต จะอนุญาตเพียงการโทรเบอร์ฉุกเฉินเท่านั้น จากสถิติของผู้ประกอบการที่รายงานมายัง กสทช. มีสถิติผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไปมายืนยันตัวตน ดังนี้ เครือข่ายเอไอเอส ร้อยละ 58.56 ทรูดีแทค ร้อยละ 35 และ เอ็นที ร้อยละ 23.14 โดยจากการตรวจสอบพบว่า หมายเลขบางส่วนที่ยังไม่ได้มายืนยันตัวตน จะเป็นซิมที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้รับข้อความ SMS แจ้งเตือน และบางส่วนเชื่อได้ว่าเป็นซิมเถื่อนที่อยู่ในมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรออนไลน์อื่น ซึ่งไม่กล้ามาแสดงตัวเพื่อยืนยันตน และกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว ในที่ประชุมได้กำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่าย  เริ่มระงับการใช้ (การโทรออกและการใช้เน็ต) ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.67 เป็นต้นไป ก่อนเพิกถอนการใช้ออกจากระบบต่อไป พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้พบว่ามีบุคคลบางกลุ่ม มีพฤติการณ์ปลอมแปลงเอกสาร หรือปลอมบัตรประชาชนในการจดทะเบียนซิมการ์ดโดยมิชอบ, ใช้บัตรประชาชนของผู้อื่น หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในส่วนนี้ กสทช. ได้ประสานการทำงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายอย่างใกล้ชิด และได้ส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นความผิดฐาน ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม, ปลอมบัตรและใช้หรือแสดงบัตรปลอม และอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย ขบวนการเหล่านี้ถือเป็นต้นตอของปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ต้องถูกดำเนินคดีและกำจัดให้หมดไป

'กสทช.-AIS' เดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ แจ้งสารพัดภัยเจาะจงเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันที

(6 มี.ค. 67) ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดคิด เช่น เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม จึงทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service) โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)

ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ

“การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service ซึ่ง กสทช.เริ่มต้นกับ AIS ในวันนี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากลสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคมให้กับประเทศต่อไป” ประธาน กสทช. กล่าว

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เราได้ร่วมทำงานกับ กสทช. และภาครัฐ ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป”

โดยโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)  

พังงา สำนักงาน กสทช. จัดการอบรมการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการผลิตรายการโทรทัศน์

สำนักงาน กสทช. โดยสำนักพัฒนาองค์กรวิชาชีพและส่งเสริมการบริการทั่วถึง จัดการอบรมการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการผลิตรายการโทรทัศน์ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 - 29 มีนาคม 2567 ณ ห้องสุรินทร์ 1 – 2 โรงแรมแคนทารี บีช เขาหลัก จังหวัดพังงา โดย นายฉันทพัทธ์ ขำโครกกรวด รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นประธานเปิดการอบรมฯ การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้มีความรู้และทักษะในการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพ และสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้จริงบนพื้นฐานความรู้ด้านความปลอดภัย และจริยธรรมในวิชาชีพต่อไป

นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top