‘อ.สุริยะใส’ มอง!! ต้องวางกรอบภารกิจให้ชัดเจน ‘การเมืองท้องถิ่น-การเมืองระดับชาติ’ ชี้!! หากขาดสมดุล สุดท้ายก็สูญเปล่า ทำให้การเมืองไทย อยู่ในแค่วังวน การเลือกตั้ง

(9 ก.พ. 68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ โดยมีใจความว่า ...

ภูมิทัศน์การเมืองไทย หลังเลือกตั้งนายก อบจ.

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองระดับชาติในเวทีการเมืองท้องถิ่น ซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของการเมืองไทยในหลายด้าน

1.ผลการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
จากผลการนับคะแนนจากทั้ง 47 จังหวัดที่มีการเบือกตั้ง นายก อบจ.พบว่า ผู้สมัครที่สังกัดและประกาศตัวในนามพรรคการเมืองระดับชาติสามารถคว้าชัยชนะในระดับท้องถิ่นได้มากกว่าร้อยละ 90 
ส่วนผู้ที่ อ้างว่าลงนามอิสระที่ได้รับเลือกตั้งก็ไม่ได้อิสระจริงทั้งหมด แสดงถึงการขยายอิทธิพลของพรรคการเมืองระดับชาติเหล่านี้เข้าสู่การเมืองท้องถิ่นอย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ การเมืองท้องถิ่นมักขับเคลื่อนโดย นักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานเสียงจากประชาชนในพื้นที่ แต่การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ เห็นชัดว่าพรรคการเมืองระดับชาติเป็นผู้กำหนดทิศทางของการเลือกตั้ง
เมื่อนักการเมืองระดับชาติลงมามีบทบาทในการชี้นำผลการเลือกตั้ง เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงออกชัดเจนในการสนับสนุนผู้สมัครพรรคเพื่อไทย หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ใช้เครือข่ายของพรรคภูมิใจไทยในการสนับสนุนผู้สมัครของพรรค
ผู้สมัครที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองระดับชาติ แทบไม่มีโอกาสได้รับเลือก เพราะกระแสพรรคการเมืองมีอิทธิพลมากกว่าตัวบุคคล

2.บทบาทของนักการเมืองระดับชาติในเวทีท้องถิ่น
การที่พรรคการเมืองระดับชาติใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวทีเผชิญหน้าหรือแข่งขันทางการเมือง ส่งผลให้ปัญหาท้องถิ่นอาจถูกบดบังด้วยประเด็นการเมืองระดับชาติ ผู้สมัครหลายคนมุ่งเน้นการนำเสนอนโยบายที่สะท้อนถึงทิศทางของพรรคมากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ความต้องการและปัญหาที่แท้จริงของชุมชนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

3.ดาบ 2 คม อนาคตของการเมืองท้องถิ่น
การเข้ามามีบทบาทของพรรคการเมืองระดับชาติในเวทีท้องถิ่น อาจทำให้การเมืองท้องถิ่นสูญเสียความเป็นอิสระ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองระดับชาติ 
อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมือง สามารถผสานนโยบายระดับชาติให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นได้ ก็อาจเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

4.นัยยะต่อ การเมือง ระดับชาติ
ผลการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มในการเลือกตั้ง สส. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พรรคที่ประสบความสำเร็จในระดับท้องถิ่นสามารถใช้โครงสร้างและเครือข่ายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนผู้สมัคร สส.ของพรรค 
นอกจากนี้ การที่พรรคการเมืองระดับชาติได้รับชัยชนะในระดับท้องถิ่น ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สนับสนุน และเพิ่มโอกาสในการได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมในการเลือกตั้ง

5. อนาคตผู้นำและขั้วการเมือง
ต้องยอมรับว่าบารมีทางการเมืองของคุณทักษิณ ชินวัตร หดหายไปมากพอสมควร เพราะในพื้นที่ที่มีความแน่นอนกลับไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป การคาดหวังจำนวนสส. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในระดับ 200 ขึ้นไปจึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ค่ายสีน้ำเงินบทบาทของคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ได้เพิ่มมาในพื้นที่สำคัญหลายจังหวัด ก็จะส่งผลให้ฐานะทางการเมืองของคุณอนุทิน เข้าใกล้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากขึ้น เพราะมีต้นทุนเดิมจากสภาสูงอยู่แล้วและจำนวน สส. รอบหน้าก็มีแนวโน้มทะลุ 100 ยิ่งถ้ากระแสแดงและส้มอ่อนลง ก็ยิ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับค่ายสีน้ำเงินอยู่แล้ว

6.บทสรุป 
สังคมไทยต้องตอบและวางกรอบให้ชัดถึงบทบาท และภารกิจของการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติและยุทธศาสตร์กระจายอำนาจต้องวางสมดุลให้ชัดเจนกว่านี้ ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งบ่อยๆ ถี่ๆ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นแต่ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ขับเคลื่อนการเมืองไทยได้อย่างมีรูปธรรมและเกิดการพัฒนา ทางการเมืองอย่างแท้จริงสุดท้ายก็อาจสูญเปล่า ทำให้การเมืองไทยอยู่ในวังวนแค่การเลือกตั้งเท่านั้น