Flowers of Manchester ครบรอบ 67 ปี โศกนาฏกรรมที่เปลี่ยนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและฟุตบอลไปตลอดกาล
หากคุณได้มีโอกาสไปเยือนสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด รังเหย้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่มีฉายาว่าโรงละครแห่งความฝัน (Theater of Dreams) และได้ไปหยุดยืนอยู่เบื้องหน้ากำแพงอัฒจันทร์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้คุณจะพบกับแผ่นป้ายจารึกรายชื่อขนาบข้างด้วยดอกไม้แสดงความเคารพและการไว้อาลัย รูปภาพของนักฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในยุคอดีต อยู่เคียงข้างกับนาฬิกาเก่าเรือนหนึ่งที่เข็มนาฬิกาหยุดนิ่งอยู่ที่เวลา 15.03 และเหมือนกับว่ามันไม่เคยเดินอีกเลยนับจากนั้น
6 กุมภาพันธ์ของทุกปี คือวันแห่งความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเท่านั้นหากแต่เป็นการสูญเสียที่โลกฟุตบอลทั้งใบต้องจดจำ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 67 ปีแห่ง 'โศกนาฏกรรมมิวนิค 1958' ใด ๆ digest ขอพาทุกท่านย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์นี้ วันที่ทุกพื้นที่ 'สีแดง' สีประจำสโมสรของ 'ปีศาจแดง' แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะถูกฉาบให้เป็น 'สีดำ'
บัสบี้ เบ็บส์
ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเพิ่งผ่านความบอบช้ำจากสงครามโลกมาหมาด ๆ และเป็นช่วงเวลาที่ทีมต่างๆกำลังช่วงชิงตำแหน่งอันดับหนึ่งกันอย่างเข้มข้น และมีหลายทีมที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างน่ากลัว หนึ่งในนั้นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งผู้ที่กุมบังเหียนทีมในตอนนั้นคือ อเล็กซานเดอร์ แม็ทธิว บัสบี้ หรือในชื่อแฟนบอลคุ้นเคยว่า แม็ตต์ บัสบี้ ก่อนที่จะได้บรรดาศักดิ์ท่านเซอร์ในเวลาต่อมานั่นเอง โดยแทบจะทันทีที่แม็ตต์ บัสบี้เข้ามาคุมทีม เขาก็ได้เพิ่มศักยภาพให้ยูไนเต็ดกลายเป็นทีมที่มีลุ้นในการเป็นแชมป์แห่งอังกฤษ ในช่วง 5 ปีแรกของการคุมทีมนั้น บัสบี้พาทีมเป็นรองแชมป์ได้ถึง 4 ครั้ง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้แชมป์เอฟเอ คัพในปี 1948 ตามมาด้วยแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1951-52
แต่ปีถัดมาบัสบี้กลับเลือกทำในสิ่งที่แฟนบอลในสมัยนั้นต้องเกาหัวด้วยความงง เมื่อเขาเลือกจะทำการถ่ายเลือดผู้เล่นครั้งใหญ่ ด้วยการโละนักเตะเก่า ๆ ทิ้ง และดันเด็กเยาวชนขึ้นมาเป็นตัวหลักแทนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยนักเตะอายุน้อย ๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ 'บัสบี้ เบ็บส์' และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการปั้นเยาวชนของสโมสรที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสันในวันที่ยังไม่ได้ยศอัศวินจะนำมาใช้ต่อในอีกสามทศวรรษให้หลัง นักเตะหลายคนถูกผลักดันมาจาก 'แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จูเนียร์ แอธเลติก คลับ' ศูนย์ฝึกเยาวชนในสมัยนั้น และยูไนเต็ด เดินหน้าคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 ปีซ้อน ในฤดูกาล 1955-1956 และ 1956-57 ด้วยอายุเฉลี่ยนักเตะเพียง 22 ปี และยูไนเต็ดกลายเป็นทีมที่เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่แข่งไปทั่วทั้งเกาะอังกฤษและทั่วแผ่นดินยุโรป
โศกนาฏกรรมมิวนิค
6 กุมภาพันธ์ 1958 ยูไนเต็ด บุกไปยันเสมอกับ เรดสตาร์ เบลเกรด ทีมจากยูโกสลาเวีย 3-3 ผ่านเข้าสู่รอบตัดเชือกยูโรเปี้ยนคัพ ไปรอดวลกับ 'ปีศาจแดงดำ' เอซี มิลาน
ขากลับจากยูโกสลาเวียทีมงานสตาฟฟ์และผู้เล่นของยูไนเต็ดเดินทางด้วยเครื่องบิน ไฟลท์ BE609 ของสายการบิน British European Airways และต้องแวะเติมน้ำมันที่สนามบินมิวนิค เยอรมัน แต่พอเติมน้ำมันเสร็จแล้ว นักบินกลับไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ตามปกติเนื่องจากทัศนวิสัยที่ย่ำแย่ ทำให้กัปตันพยายามนำเครื่องขึ้นบินถึงสองครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และในความพยายามครั้งที่สามนี่เองเครื่องยนต์ที่เร่งมาด้วยความเร็วกว่า 194 กม/ชม. เกิดลื่นไถลตรงปลายสุดของรันเวย์และชนเข้ากับรั้วของสนามบิน ก่อนตัวเครื่องจะหลุดข้ามถนนออกไป โชคร้ายที่อีกฟากหนึ่งนั้นมีบ้านหลังหนึ่งอยู่พอดี ปีกซ้ายของเครื่องบินหมุนฟาดเข้ากับตัวบ้านอย่างแรงจนพังยับ ส่วนหางของเครื่องถูกฉีกออกไปก่อนที่ด้านซ้ายของเครื่องบินจะฟาดเข้ากับต้นไม้ ด้านขวาของเครื่องเข้าไปกระแทกอย่างแรงกับห้องเก็บของซึ่งมียางรถยนต์และน้ำมันอยู่เต็มจนเกิดการลุกไหม้ เกิดไฟลุกท่วมบ้านที่มีสมาชิกหกราย โชคยังดีที่ผู้เป็นแม่กับลูก ๆ อีกสามรายหนีตายจากแรงระเบิดออกมาได้ทัน ส่วนพ่อและลูกสาวคนโตออกไปข้างนอกพอดีเลยรอดตาย
แต่อีก 23 ชีวิตบนเครื่องไม่โชคดีขนาดนั้น ซึ่งรวมถึง 8 นักเตะของยูไนเต็ด และทีมสตาฟฟ์อีก 3 คนไม่ได้กลับบ้านอีกเลยตลอดกาล 21 ชีวิตจบชีวิตลงทันที อีกสามรายอาการยังโคม่า น่าเศร้าที่ เคนเน็ธ เรย์เมนท์ นักบินที่สองทนพิษบาดแผลไม่ไหวสิ้นใจลงในอีกสามสัปดาห์ต่อมา ส่วนดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ปีกดาวรุ่งตัวความหวังของยูไนเต็ดและทีมชาติอังกฤษยังฟื้นได้สติ แต่ห้าวันต่อมาอาการของเอ็ดเวิร์ดส์ทรุดหนักลง คณะแพทย์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะยื้อชีวิตของเขา แต่ก็ไม่สำเร็จ เวลาตีสองสิบห้านาทีของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1958 ร่างกายของ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ก็ทนรับสภาพไม่ไหวหลังจากยื้อมานานกว่า 15 วัน เขาสิ้นใจลงในโรงพยาบาลท่ามกลางความโศกเศร้าของแฟนบอลทั่วโลก
ภายหลังจากโศกนาฏกรรม
แม็ตต์ บัสบี้ เป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิต แต่ก็ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึงสองเดือน เขาเคยคิดจะเลิกคุมทีมจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก แต่ก็ได้รับกำลังใจจากภรรยา ครอบครัว และแฟนบอลนี่เองที่ฉุดบัสบี้ออกมาจากโลกแห่งความเศร้า เขากลับไปยังแมนเชสเตอร์และปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนเป็นครั้งแรกในนัดชิงชนะเลิศของเอฟเอ คัพ ปี 1958 ที่ยูไนเต็ดได้เข้าชิงกับโบลตัน ด้วยการขาดกำลังหลักไปพร้อมกันทีเดียว ผลงานในลีกจึงตกต่ำลงทันที หลังจากเหตุการณ์ที่มิวนิค ทีมเก็บชัยชนะได้อีกเพียงครั้งเดียวในฤดูกาลที่เหลือเหนือซันเดอร์แลนด์ในเดือนเมษายน อันดับร่วงไปจบที่ 9 ส่วนในเอฟเอ คัพ ผลงานดีกว่า เกมที่พบกับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ นัดแรกหลังจากโศกนาฏกรรม ลงเอยด้วยชัยชนะ 3-0 และในถ้วยใบนี้พวกเขาทำผลงานได้ดีจนได้เข้าชิงชนะเลิศ
สุดท้าย แม็ตต์ บัสบี้ กลับมาคุมทัพและพาทีมกลับมาเป็นแชมป์ลีกได้อีกครั้ง ด้วยขุนพลรุ่นใหม่อย่าง จอร์จ เบสต์, น็อบบี้ สไตล์ส, ไบรอัน คิดด์ บวกกับ ชาร์ลตัน และโฟลค์ ที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของทีมชุดก่อน
เป็นเวลา 10 ปีพอดีนับจากโศกนาฏกรรมที่มิวนิค แม็ตต์ บัสบี้ และนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดที่เกรียงไกรที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ นำโดยหนึ่งในผู้ประสบเหตุที่มิวนิคแต่รอดชีวิตมาได้อย่าง บ็อบบี้ ชาน์ลตัน พวกเขาผงาดคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ปี 1968 และเป็นทีมแรกของอังกฤษที่ทำได้
จากวันนั้นถึงวันนี้ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะมีพิธีร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยทุกคนจะใช้คำเรียกขานถึงผู้ที่จากไปและเหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนั้นว่า 'Flower Of Manchester' ซึ่งมีที่มาก็จากวงดนตรีพื้นเพจากเมืองแมนเชสเตอร์ชื่อ The Spinner ที่แต่งเพลง Flower Of Manchester เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงนักเตะยูไนเต็ดในยุคนั้น
จากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 67 ปีเต็มพอดี แต่เรื่องราวของเหล่าบัสบี้ เบ็บส์ยังได้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่เคยสิ้นสุด พวกเขาไม่เป็นเพียงแค่ความภาคภูมิใจของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเท่านั้น แต่คือเกียรติยศของฟุตบอลอังกฤษในการส่งมอบมิตรภาพและความยอดเยี่ยมของฟุตบอลอังกฤษให้ชาวยุโรปได้รู้จักถึงความเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้และแพสชันในฟุตบอลที่ไม่เคยเลือนหาย
เวลาของนาฬิกาเรือนอื่น ๆ จะหมุนเดินต่อไป แต่สำหรับ 15.03 ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 นาฬิกาเรือนเก่าที่ตั้งอยู่ข้างรูปภาพของเหล่าบัสบี้ เบ็บส์บนกำแพงที่สนามโอล์ดแทรฟฟอร์ดนี้จะหยุดนิ่งอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกับลมหายใจของทั้ง 23 ชีวิตที่จากไป แต่จิตวิญญาณของพวกเขาไม่ได้หายไปไหน พวกเขายังคงเล่นฟุตบอลด้วยความสนุกสนานและจะยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของทุกชีวิตที่รักในฟุตบอลตลอดไป
ด้วยจิตคารวะจาก ใดๆdigest ต่อดวงจิตทุกดวงในนาม Flowers of Manchester
เรื่อง : กวิล นาวานุเคราะห์