กทม. ออกข้อบัญญัติ ฝังไมโครชิป หมา-แมว หวังแก้ปัญหาสัตว์จรจัด
เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ... ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 และได้มีการประชุมร่วมกันใช้เวลารวมทั้งสิ้น 20 ครั้ง
หลักการพิจารณานั้น คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ..... เริ่มจากชื่อร่าง หลักการ เหตุผล คําปรารภ และตัวร่างข้อบัญญัติเรียงตามลำดับจนจบ โดยอาศัยคำชี้แจงของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมการวิสามัญ ผู้เทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประกอบกับได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (http://www.law.go.th) และแอปพลิเคชัน Google Forms รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเป็นหนังสือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้ความเห็นว่าสมควรกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์และเหตุเดือดร้อนรำคาญในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกำหนดมาตรการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ร้านอาหารบางร้านเลี้ยงสุนัขจำนวนมากและมีการถ่ายมูลภายในร้าน จนมีกลิ่นเหม็นและส่งผลกระทบด้านมลภาวะไปถึงเพื่อนบ้าน จนมีการร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนต้องร้องเรียนไปถึงสื่อมวลชน ซึ่งการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมสัตว์เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ฯ ครั้งนี้ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเรื่องของพื้นที่บ้าน (ตร.วา/ตร.ม.) ต่อการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง 1 ตัว ในแต่ละประเภทสัตว์ และในปัจจุบันมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือมีวิธีแก้ไขปัญหาสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเกินจำนวนและไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ทั่วถึงหรือไม่อย่างไร
ด้านนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก ตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดพื้นที่(ตร.วา/ตร.ม.) ต่อจำนวนสัตว์เลี้ยงแต่ละประเภทบางครั้งอาจเป็นข้อจำกัดและเป็นการริดรอนสิทธิสัตว์หรือไม่อย่างไร เพราะบางครั้งสัตว์ต้องอยู่เป็นคู่หรือต้องมีการผสมพันธุ์สัตว์
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า คณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ได้พิจารณา มาอย่างถี่ถ้วนผ่านประชาพิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องมีการจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง แต่จะไม่มีบทลงโทษย้อนหลังหากสัตว์ที่เลี้ยงอยู่เดิมเกินจำนวน หลังจากที่ข้อบัญญัติประกาศออกไป แต่จะมีผลหลังจาก ประกาศแล้ว 360 วัน หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวดที่ 8 ข้อ 34 และจะมีการใช้ข้อบังคับให้สุนัขและแมวต้องมีการฝังไมโครชิป เพื่อให้ทราบเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลรับผิดชอบอีกด้วย ซึ่งจะลดและแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น รวมถึงสำนักอนามัยมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์จรจัดในแต่ละพื้นที่เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัด และในส่วนของสุนัขที่มีความดุร้ายสร้างความเดือดร้อน หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะนำไปไว้ที่ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประเวศ ส่วนกรณีที่ต้องการเลี้ยงเป็นคู่เพื่อผสมพันธุ์สัตว์หรือประกอบธุรกิจนั้น สามารถขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข
“ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ... ขอขอบคุณสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกท่าน เมื่อข้อบัญญัติฯ นี้ได้ประกาศใช้ จะสามารถแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด สัตว์ดุร้ายที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญในกรุงเทพมหานครได้ เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครมีความปลอดภัยกับประชาชน” นายนภาพล กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ... คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วมีการแก้ไขในข้อต่างๆ จากข้อบัญญัติเดิมเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับปัจจุบัน และสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว และจะส่งให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการต่อไป