12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ร.5 ทรงประกาศรวมหอพระสมุด พร้อมจัดตั้ง "หอสมุดสำหรับพระนคร" ต้นกำเนิดหอสมุดแห่งชาติ
12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ในหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศรวมกิจการหอพระสมุดสามแห่ง คือ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณและหอพุทธศาสนสังคหะ จัดตั้งเป็น "หอสมุดสำหรับพระนคร" พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยมีแหล่งศึกษาหาความรู้ ทำให้หอพระสมุดที่เดิมเป็นประโยชน์เฉพาะเจ้านายขุนนาง ได้ใช้ประโยชน์โดยประชาชนทั่วไปด้วย จัดเป็นห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกของไทย และเป็นต้นกำเนิดของ "หอสมุดแห่งชาติ" ในปัจจุบัน
โดยพระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร" ตั้งอยู่ ณ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม) เนื่องจากพระราชประสงค์จะทรงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 4) ครบ 100 ปี
ประจวบกับประเทศสยามยังไม่มีหอสมุดสำหรับพระนคร จึงทรงอุทิศถวายหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร พร้อมทั้งขยายกิจการหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งแต่เดิมทีเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล ให้เป็นหอสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป จึงนับเป็นห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกของไทย และเป็นต้นกำเนิดของหอสมุดแห่งชาติ