'ชาติมุสลิม' คว่ำบาตร ‘โค้ก-เป๊ปซี่’ หนุน ‘น้ำอัดลมท้องถิ่น’ โตช่วงสงคราม หลังทั้งสองยักษ์ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง 'อเมริกา-อิสราเอล'
(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ยอดขายปีนี้ของ 'โค้ก' ในอียิปต์ตกต่ำ สวนทางกับแบรนด์ท้องถิ่น 'V7' ในอียิปต์ ที่สามารถส่งออกโคล่าไปยังตะวันออกกลางได้มากกว่าโค้ก 3 เท่า และขยายตลาดในภูมิภาคได้มากกว่าปีก่อน ขณะที่ 'เป๊ปซี่' ที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วในตะวันออกกลาง ก็ทำยอดขายได้ไม่ดี หลังจากเกิดสงครามในกาซาเมื่อเดือน ต.ค. 2566
ด้าน ซันบาล ฮัสซัน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแห่งหนึ่งในปากีสถาน สะท้อนถึงเรื่องนี้ว่า เธอได้ตัดเครื่องดื่มโค้กและเป๊ปซี่ออกจากเมนูอาหารในงานแต่งงานของเธอเมื่อเดือน เม.ย. เพราะเธอไม่อยากรู้สึกว่าเงินของเธอตกไปถึงคลังภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของอิสราเอล
ทั้งนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากในโลกมุสลิมพยายามหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ของ 'โคคา-โคล่า' และ 'เป๊ปซี่โค' โดยอ้างว่าสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่อิสราเอลทำสงครามกับฮามาส ส่งผลให้มีการตัดสินใจซื้อสินค้าจากตัวเลือกที่แตกต่างไป เพราะทัศนคติทางการเมือง ซึ่งการคว่ำบาตรดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เฉพาะแห่ง เช่น เลบานอน, ปากีสถาน และอียิปต์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง เป๊ปซี่โค ออกมายืนยันถึงเรื่องนี้ว่า ตัวบริษัทฯ หรือ แบรนด์ใด ๆ ภายใต้บริษัท ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือกองทัพสหรัฐฯ ในเรื่องของความขัดแย้ง ขณะที่ 'โคคา-โคล่า' ก็เผยว่า บริษัทฯ ไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในอิสราเอลหรือประเทศอื่น ๆ ใด ๆ
สำหรับรายได้ของทั้ง 2 บริษัท มีการเปิดเผย ระบุว่า รายได้ทั้งหมดของเป๊ปซี่โคในตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ อยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 และในปีเดียวกันนั้น รายได้ของโคคา-โคล่า ในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาอยู่ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์
แต่ในช่วง 6 เดือน หลังจากฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลวันที่ 7 ต.ค. 67 ยอดขายเครื่องดื่มเป๊ปซี่โคในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้แทบไม่เติบโต เมื่อเทียบไตรมาส 2565/66 ขณะที่ยอดขายโค้กในอียิปต์ ลดลงสองหลักในช่วง 6 เดือนจนถึง 28 มิ.ย. 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566
อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรไม่ได้ทำให้แบรนด์เครื่องดื่มอเมริกันรายได้หดเพียงอย่างเดียว แต่เงินเฟ้อ และความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในปากีสถาน, อียิปต์ และบังกลาเทศ ได้บั่นทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภคตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามแล้ว และทำให้แบรนด์ท้องถิ่นน่าสนใจมากกว่า
โดย กัสซิม ชรอฟฟ์ ผู้ก่อตั้งคราฟ มาร์ต (Krave Mart) แอปพลิเคชันดิลิเวอรีชั้นนำในปากีสถาน เผยว่า คู่แข่งในท้องถิ่นอย่างโคล่าเน็กซ์ (Cola Next) และปาโคลา (Pakola) ได้รับความนิยมมากขึ้น จนมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมราว 12% ซึ่งก่อนที่แบรนด์น้ำอัดลมสหรัฐฯ ถูกบอยคอต แบรนด์ท้องถิ่นสองรายมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันราว 2.5% เท่านั้น
ขณะที่โมฮัมเหม็ด นูร์ อดีตผู้บริหารโคคา-โคล่า ที่ลาออกเมื่อปี 2563 หลังทำงานมานาน 28 ปี และกลายเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่มอียิปต์ 'V7' เปิดเผยว่า ธุรกิจส่งออกเครื่องดื่ม V7 เติบโต 3 เท่าในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 2566 และตอนนี้แบรนด์สามารถจำหน่ายสินค้าได้มากถึง 21 ประเทศ แถมยอดขายในอียิปต์ตั้งแต่ ก.ค. 2566 ก็เติบโตขึ้นถึง 40%
อย่างไรก็ตาม ‘โค้ก-เป๊ปซี่’ ก็ยังมองบวกตลาดมุสลิม โดยในฝั่ง โคคา-โคล่า ยังคงลงทุนเพิ่มอีก 22 ล้านดอลลาร์ในปากีสถานเมื่อเดือน เม.ย. เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ขณะที่ตัวแทนบริษัทเป๊ปซี่โคยืนยันกับรอยเตอร์สว่า บริษัทได้กลับมาเปิดแบรนด์น้ำอัดลม 'ทีม' (Teem) ในตลาดปากีสถานอีกครั้ง และผลิตภัณฑ์พิมพ์คำว่า 'Made in Pakistan' บนฉลากไว้อย่างโดดเด่น
นอกจากนี้ โคคา-โคล่า และ เป๊ปซี่ ก็ยังคงนำแบรนด์เข้าไปในหลายประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น ผ่านการนำผลิตภัณฑ์ร่วมสนับสนุนองค์กรการกุศล นักดนตรี และทีมกีฬาคริกเก็ต ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โค้กและเป๊ปซี่ยังคงรักษาฐานลูกค้าในหลายประเทศที่มีชาวมุสลิมในระยะยาว แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย
ที่มา : Bangkokbiznews