'เศรษฐกิจนอกระบบ' ตัวการทำประเทศสูญเสียรายได้ เพราะขาดการกำกับดูแล-ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

ช่วงหลัง ๆ มานี้เรามักจะได้ยินหลายหน่วยงานของรัฐบาลได้ออกมาพูดถึงปัญหาด้านการเติบโตของประเทศไทยที่เติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่มี และไม่สามารถเติบโตได้เท่าเทียมกับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market นี่นอกจากจะทำให้ประเทศเรามีเศรษฐกิจที่รั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง และยังมีการคาดการณ์ว่า GDP ไทยตลอดทั้งปี 2567 นี้ก็จะอยู่ที่เพียงแค่ 2.2-2.7% เท่านั้น

โดยสาเหตุการเติบโตที่ต่ำนี้มาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสังคมไทยที่ขาดแคลนแรงงานเพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเด็นทางการเมือง การไหลเข้ามาของสินค้าจีนที่ราคาถูกกว่า แต่หนึ่งในสาเหตุที่ทางธนาคารโลกมองว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บ้านเรามี ‘เศรษฐกิจนอกระบบ’ หรือ ‘Shadow Economy’ ในระดับที่สูงมาก โดยถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศหรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกและอาเซียนค่ะ 

‘Shadow Economy’ เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหรือรายได้ที่เกิดจากธุรกิจทั้งขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กหรือธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือว่าไม่ถูกนับรวมอยู่ใน GDP ของประเทศค่ะ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้อาจจะมีทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายอย่างเช่น การขายสินค้าลอกเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมก็ได้ค่ะ 

ธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับทางภาครัฐและไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในระบบ ทำให้ทางการไม่สามารถนำตัวเลขจากธุรกิจเหล่านี้ไปสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีมูลค่าสูงขนาดนี้ ก็เพราะการขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ปัญหาความยากจนของคนในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ต่างพากันไม่ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการของภาครัฐ 

แม้จะมีมุมมองด้านบวกคือ แรงงานที่เข้าถึงงานมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจนอกระบบนี้จะเป็นการสร้างงานและรายได้ให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและงานที่อยู่ในระบบได้แล้ว แต่ด้านลบก็คือ เศรษฐกิจนอกระบบนี้ทำให้รัฐเองสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล และยังส่งผลในเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจจากธุรกิจนอกระบบที่อาจจะมีต้นทุนในการดำเนินกิจการที่ต่ำกว่าธุรกิจที่อยู่ในระบบ

โดยขนาดเศรษฐกิจนอกระบบนี้เมื่อคิดเทียบกับ GDP ทั่วโลกจะอยู่ที่ราว ๆ 20-25% ของ GDP ทั้งหมด ซึ่งเศรษฐกิจนอกระบบนี้สามารถพบเจอได้ในทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีเศรษฐกิจนอกระบบเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา อย่างในสหรัฐฯ หรือเยอรมนีเอง ตัวเลขขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 7-8% และ 10-12% ตามลำดับ ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา สัดส่วนของเศรษฐกิจนอกระบบนี้สูงได้ถึง 30-40% ของ GDP หรืออาจจะมากกว่านั้น 

การแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีผลกระทบหลายด้าน โดยการที่จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจรวมไปถึงภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นค่ะ


เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP