'วันจันทร์ทมิฬ' ฝันร้ายของนักลงทุนทั่วโลก ความผันผวนที่แม้จะหยุดซื้อขายก็ยังเอาไม่อยู่

ข่าวร้ายเกี่ยวกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะ GDP ที่ไม่โต, สงครามที่ยืดเยื้อ รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองในหลายประเทศ ล้วนแต่ส่งผลในนักลงทุนหลายคนเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้คือ อีกหนึ่งปีที่ยากสำหรับการลงทุนจริงๆ ค่ะ 

นี่ยังไม่นับรวมความโกลาหลจากการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยแค่วันนั้นวันเดียว ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นทั้งดัชนี TOPIX และ NIKKEI 225 ที่มีช่วงที่ร่วงลงต่ำกว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday 1987 และไปทำราคาปิดที่ -12.40% ซึ่งในวันนั้นมีการใช้ Circuit Breaker เพื่อหยุดความผันผวนชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ผลค่ะ 

ในวันนั้นตลาดปิดไปด้วยมูลค่าตลาดที่ลดลงเหลือเพียงแค่ 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ และถึงแม้ว่าตลาดจะเด้งกลับในวันต่อมา แต่ทุกคนก็พากันขนานนามเหตุการณ์ว่า Black Monday 2024 ซึ่งเป็นการร่วงลงของตลาดหุ้นที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Monday ปี 1987 เลยทีเดียวค่ะ 

วันนี้เลยอยากพาทุกคน ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ Black Monday 1987 หรือวันจันทร์ทมิฬ กันค่ะ เพื่อที่เราจะได้ศึกษาเรื่องราวในวันนั้นและเก็บเอาไว้เป็นบทเรียนสำหรับการลงทุนในอนาคตค่ะ 

ย้อนกลับไปในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 หรือเมื่อ 37 ปีที่แล้ว วันนั้นเป็นเหมือนฝันร้ายของนักลงทุนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและลามไปทั่วทั้งโลกค่ะ เพราะเพียงแค่วันเดียวดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงไปถึง 22.61% หรือร่วงลงกว่า 500 จุด และดัชนี S&P 500 ร่วงลงถึง 30% ซึ่งนั่นทำให้ความมั่งคั่งของชาวสหรัฐหายไปถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ค่ะ ซึ่งนับเป็นการร่วงลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นตลาดหุ้น NIKKEI ร่วงลงไป 14.9% 

และแม้ว่าจนถึงวันนี้จะยังไม่มีใครสรุปสาเหตุของวันนั้นได้ว่าเกิดจากอะไร แต่หนึ่งในสาเหตุของวันนั้นคือ Algorithm Trading ค่ะ ซึ่ง Algorithm Trading นี้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่เหล่ากองทุนใช้เพื่อการซื้อขายหุ้น และในวันนั้นมี Algorithm อยู่ตัวหนึ่งที่ทำงานผิดพลาดค่ะ โดยได้มีการส่งคำสั่งขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงอย่างรวดเร็วค่ะ ซึ่งการเทขายแบบนั้นมันได้ไปส่งสัญญาณใน alogorithm ตัวอื่นเทขายหุ้นของตัวเองออกมาบ้างค่ะ หุ้นที่ร่วงอยู่แล้วก็ยิ่งลงเร็วและแรงกว่าเดิมค่ะ 

พอนักลงทุนที่เข้ามาเห็นราคาหุ้นที่ร่วงลงอย่างรุนแรง ก็พากันแตกตื่นและรีบขายหุ้นตัวเองออกมา เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Panic Sell หรือเป็นการขายหุ้นแบบหนีตายค่ะ ทุกคนจะแย่งกันขายหุ้นตัวเองออกมา จนทำให้เมื่อจบวันดัชนีดาวโจนส์ลดลงไปอย่างมากสุดเป็นประวัติการณ์ค่ะ 

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้มีการคิดค้นระบบที่เรียกว่า Circuit Breaker ขึ้นมาค่ะ อย่างที่บอกไปตอนต้นนะคะว่า มันคือการหยุดซื้อขายชั่วคราว และการหยุดนี้ ก็เพื่อให้นักลงทุนได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะลงมือทำอะไรค่ะ 

นอกจากประเด็นเรื่องของ Algorithm Trading แล้ว บางคนก็บอกว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเพราะว่าเงินเฟ้อของสหรัฐเอง ก็มาถึงจุดสูงสุดแล้ว นั่นคือปรับตัวขึ้นมาถึง 4% ประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ก็ขึ้นมาอย่างร้อนแรงตลอดทางจากระดับ 2,000 จุดไปที่ระดับ 2,747 จุด ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน จนทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ บ้างก็บอกว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่จากการขาดดุลทางการค้าและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ค่ะ

โดยหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ดัชนีดาวโจนส์ต้องใช้เวลายาวนานถึง 14 เดือน เพื่อที่จะกลับไปจุดเดียวกันกับก่อนที่ร่วงลงมาได้ และมีนักลงทุนจำนวนมากที่ต้องออกจากตลาดเพราะความสูญเสียจากเหตุการณ์นั้นค่ะ 

ส่วนตลาดหุ้นไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันนั้นเช่นเดียวกันค่ะ โดย SET ของเราร่วงลงภายในเวลา 2 เดือนหลังจากเหตุการณ์วันนั้น จากจุดสูงสุดที่ 472.86 จุดตอนเดือนตุลาคม 1987 มาอยู่ที่จุดต่ำสุดที่ 243.97 จุดในเดือนธันวาคมปีเดียวกันค่ะ 


เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP