รู้จัก FOMC การประชุมของ FED ที่ผู้กุมนโยบายการเงินทั่วโลกต่างจับตา เพราะทุกทีท่า ล้วนกระทบเสถียรภาพทาง ศก. 'ระดับชาติ-ระดับโลก'
ถ้าใครติดตามข่าวการลงทุนอยู่เรื่อย ๆ ก็คงสังเกตได้ว่า ช่วงไหนที่มีข่าวการประชุม FOMC หรือการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee - FOMC) ตลาดสินทรัพย์ทุกประเภทก็มักจะมีความผันผวน โดยนักลงทุนบางส่วนก็มีการขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อลดความเสี่ยงลง เพื่อรอดูผลของการประชุมเสมอ
การประชุมนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 คน ได้แก่ สมาชิก 7 คนจากคณะกรรมการผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ, 1 คนเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง New York และอีก 4 คนจะหมุนเวียนกันมาจากผู้ว่าการธนาคารกลางอีก 11 เขตที่เหลือในแต่ละปีค่ะ
โดยวัตถุประสงค์หลักของ FOMC คือ การดูแลและกำหนดนโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค, ทบทวนสภาพเศรษฐกิจและการเงิน, ประเมินความเสี่ยงต่อเป้าหมายระยะยาว และหารือเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสม เช่น ราคาที่มีเสถียรภาพ, ระดับอัตราการจ้างงานสูงสุด และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประชุมกัน 8 ครั้งต่อปี เพื่อหารือและตัดสินใจในมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน
โดยหัวข้อสำคัญ ๆ ที่มักจะถูกพูดถึง คือ...
1. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม: ในการประชุมจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน
2. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่าง ๆ: จะมีการนำเอาตัวเลขที่ใช้การชี้วัดเช่น การเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคมาพิจารณา
ส่วนหัวข้อสำคัญรองลงมาจะเป็น...
3. สภาพตลาดการเงิน: การประเมินสภาพในตลาดการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วไป
4. พัฒนาการเศรษฐกิจทั่วโลก: การพิจารณาสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เมื่อพิจารณาหัวข้อดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายการเงิน โดยการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC นั้น จะมีผลโดยตรงต่อทิศทางของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการจ้างงานต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว จะส่งผลต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการเงินทั้งในสหรัฐฯ เองและทั่วโลก รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุนทั่วโลกอีกด้วย
ดังนั้น ผลการประชุมนี้ จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยตลาดและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ภายใต้บทบาทสำคัญของ FOMC ที่จะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับโลก
อ้อ!! แล้วนอกจากการประชุมของธนาคารสหรัฐฯ แล้ว ในโลกก็ยังมีการประชุมธนาคารประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญระดับโลกอีกด้วย อย่างเช่น การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขณะที่ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบนโยบายและสร้างเสถียรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน
สำหรับการประชุม FOMC รอบที่ผ่านมามีขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม แม้จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างนายเจอโรม พาวเวล ก็ได้แสดงท่าทีที่อ่อนโยนลง และระบุว่า ถ้าเงินเฟ้อกำลังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง, ตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง 'เฟด' (FED) เอง ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ค่ะ
เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP