26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ‘ยูเนสโก’ ยก ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นแท่นมรดกโลกทางธรรมชาติ นับเป็นแห่งที่ 3 ของไทย ครอบคลุม ‘ราชบุรี-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์’
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 (ประเทศจีน) ได้พิจารณาวาระการเสนอ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
โดยการลงคะแนนเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. โดยมี 12 เสียงจากตัวแทนทั้งหมด 21 ประเทศที่ลงคะแนนรับรองให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทำให้ประเทศไทยมีมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่ 3 นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ ในปี พ.ศ. 2534 และ ‘กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ในปี พ.ศ. 2548
โดยเหตุผลที่ทำให้ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยเขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese
ผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรียังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อคลานขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างจระเข้น้ำจืด
รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์
ซึ่งเป็นไปตาม เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
กลุ่มป่าแก่งกระจาน มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในประเทศเกิดการตระหนัก รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วย
โดยประโยชน์หลัก ๆ ที่ได้รับ เช่น (1) ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาวิจัยในระดับสากล (2) ยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของแหล่ง เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
(3) ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน และ (4) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้
ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร