‘สีจิ้นผิง’ นักปฏิรูปของจีน เดินหน้าส่งเสริมสร้างความทันสมัย แม้รู้ซึ้งภารกิจยากเย็นเพียงใด แต่ยึดมั่นเพื่อการพัฒนาประเทศ
เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้นำจีน ‘สีจิ้นผิง’ ได้ทยอยเปิดเผยมาตรการปฏิรูปชุดใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ขณะคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เริ่มต้นการประชุมนโยบาย ระยะ 4 วัน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันจันทร์ (15 ก.ค.) ณ พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20
สีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ ได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานในนามกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และแจกแจงร่างมติเกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและการเดินหน้าการสร้างความทันสมัยของจีน
การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเทียบเท่า ‘การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3’ ครั้งอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมในปี 1978 ที่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน
ช่วงก่อนการประชุมเต็มคณะครั้งปัจจุบัน สีจิ้นผิงได้ส่งเสริมการปฏิรูป กระตุ้นความพยายาม ‘ปลดปล่อยความคิดยิ่งขึ้น ปลดแอกและพัฒนาพลังการผลิตทางสังคม ปลดเปลื้องและเพิ่มพูนพลังความมีชีวิตชีวาของสังคม’ เพื่อ ‘มอบแรงกระตุ้นอันแข็งแกร่งและหลักประกันเชิงระบบสำหรับการสร้างความทันสมัยของจีน’
สิ่งนี้สร้างความคาดหวังการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งรอบใหม่ พร้อมขจัดข้อวิตกกังวลว่าการปฏิรูปของจีนจะ ‘หยุดนิ่ง’ หรือเศรษฐกิจของจีนจะ ‘สูญสิ้นพละกำลัง’
ตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อกว่าทศวรรษก่อน จีนได้ก้าวเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ โดยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะการปฏิรูปเป็นจุดเด่นของยุคใหม่นี้
อย่างไรก็ดี จีนในวันนี้ได้อยู่ในห้วงยามสำคัญของการเร่งรัดการปฏิรูป ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่นานัปการเดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง
สีจิ้นผิงถือเป็นนักปฏิรูปที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งของจีนต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง โดยผู้นำทั้งสองมีภารกิจเดียวกันคือการสร้างความทันสมัยของประเทศ แต่อยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
เมื่อครั้งเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดกว้างช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวของจีนน้อยกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,300 บาท) ทำให้ความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของเขาเริ่มต้นจากเกือบศูนย์
ทว่าเมื่อครั้งสีจิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.19 แสนบาท) แต่การเติบโตได้ปรับเปลี่ยนความเร็วจากเดิม และข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ได้เริ่มลดน้อยถอยลง
แทนที่จะหยุดพักอยู่กับความสำเร็จของบรรดาผู้นำรุ่นก่อนหน้า สีจิ้นผิงกลับมุ่งมั่นเดินหน้าการปฏิรูป แม้รับรู้ดีว่าภารกิจนี้ยากเย็นเพียงไร โดยเขากล่าวว่าทำส่วนที่ง่ายของภารกิจนี้เสร็จสิ้นจนเป็นที่พึงพอใจของทุกคนแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นงานยากเหมือนกระดูกแข็งที่ต้องออกแรงเคี้ยว
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการปฏิรูปมากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถขจัดความยากจนขั้นรุนแรง ส่งเสริมการพัฒนาเมือง-ชนบทเชิงบูรณาการ ต่อสู้กับการทุจริตคดโกง สนับสนุนการประกอบธุรกิจ กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดัน ‘การปฏิวัติเขียว’
เนื่องด้วยมาตรการปฏิรูปเหล่านี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเสริมสร้างสถานะของจีนในการเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมการเติบโตรายสำคัญของโลก
ปัจจุบันจีนต้องเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษ ยามเผชิญกับความต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและความท้าทายใหญ่ต่าง ๆ เช่น แรงกดดันจากเศรษฐกิจขาลงหลังจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กอปรกับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการเงินขนาดเล็ก-ขนาดกลางบางส่วน
เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและประเทศชาติ สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการปฏิรูปและเปิดกว้างเป็น ‘วิธีการสำคัญ’ สู่การบรรลุการสร้างความทันสมัยของจีนและสานต่อปาฏิหาริย์ทางการพัฒนาของประเทศ
สีจิ้นผิงเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปในการประชุมของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ เมื่อเดือนมกราคม และสำทับถึงความจำเป็นในการปฏิรูปภาคส่วนต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการประชุมประจำปีของสภานิติบัญญัติและหน่วยงานที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงสุดของชาติในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา
‘การปฏิรูปเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนา’ สีจิ้นผิงกล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยสีจิ้นผิงยังจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
หวงฮั่นเฉวียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมข้างต้น กล่าวว่า สีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างมากและมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปทั้งหมดเป็นอย่างดี
ก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงกล่าวกับสมาชิกชุมชนธุรกิจ ยุทธศาสตร์ และวิชาการของสหรัฐฯ ที่เยือนกรุงปักกิ่งในฤดูใบไม้ผลินี้ว่าจีนกำลังวางแผนและดำเนินการตาม ‘ขั้นตอนสำคัญของการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น’ โดยจีนจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด อ้างอิงกฎหมาย และเป็นสากลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่การพัฒนาแก่ธุรกิจของสหรัฐฯ และนานาชาติ
ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังคงเหมือนเดิมตลอดมา ปี 1969 เมื่อครั้งสีจิ้นผิงอายุ 15 ย่าง 16 ปี เขาถูกส่งตัวไปยังหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเพื่อใช้แรงงานในพื้นที่เกษตรกรรม ที่ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับความหิวโหย โดยปณิธานของสีจิ้นผิงวัยหนุ่มตอนนั้นคือทำให้สหายร่วมหมู่บ้านมีข้าวปลาอาหารกินอย่างเพียงพอ
การสนับสนุนการปฏิรูปอย่างแรงกล้าของสีจิ้นผิงยังมาจากความปรารถนามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน โดยมาตรการปฏิรูปต่าง ๆ ที่สีจิ้นผิงดำเนินการในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ประจำหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการใช้ก๊าซชีวภาพ ตั้งร้านตีเหล็ก และเปิดร้านขายของชำ ล้วนมุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นพ่ออย่างสีจ้งซวิน นักปฏิวัติเก่าและผู้สนับสนุนการปฏิรูปและเปิดกว้าง โดยปี 1978 สีจ้งซวินได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และช่วยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกของจีน ซึ่งประกอบด้วยเซินเจิ้น จูไห่ และซ่านโถว
ปีเดียวกันนั้นสีจ้งซวินมอบหมายให้สีจิ้นผิง ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ดำเนินการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือนในมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน โดยสีจิ้นผิงบันทึกข้อมูลจนเต็มสมุดที่ยังคงถูกเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ชื่อเสียงของสีจิ้นผิงในฐานะนักปฏิรูปเพิ่มพูนตามความก้าวหน้าบนเส้นทางอาชีพทางการเมืองของเขา
ช่วงต้นทศวรรษ 1980 สีจิ้นผิงริเริ่มการทดลองปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง ซึ่งเป็นอำเภอยากจนในมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน โดยเขาทดลองจัดทำสัญญาที่ดินในชนบท ทำให้อำเภอเจิ้งติ้งเป็นพื้นที่แรกของเหอเป่ยที่ปรับใช้แนวทางดังกล่าว
บทความที่เผยแพร่ผ่านนิตยสารไชน่า ยูธ (China Youth) ในปี 1985 บรรยายรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของอำเภอเจิ้งติ้งโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของเลขาธิการพรรคฯ ระดับอำเภอจากมณฑลใกล้เคียงที่เยือนอำเภอเจิ้งติ้งที่ว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นทุกที่จนประชาชนท้องถิ่นไม่ต้องร้องขอ
"หากมองย้อนกลับไปตอนนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำสำเร็จคือการปลดปล่อยความคิด" สีจิ้นผิงกล่าวถึงการปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง
ต่อจากอำเภอเจิ้งติ้ง สีจิ้นผิงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่นครเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งเขาเป็นผู้นำการจัดตั้งธนาคารร่วมทุนแห่งแรกของจีนอย่างเซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชันแนล แบงก์ (Xiamen International Bank) และหลังจากก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน สีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปการครอบครองป่าไม้ร่วมกัน ซึ่งถูกปรับใช้ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศในเวลาต่อมา โดยแผนริเริ่มนี้เป็นที่รู้จักในฐานะอีกหนึ่งขั้นตอนการปฏิวัติพื้นที่ชนบทของจีน ต่อจากระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือน
ช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเจ้อเจียง สีจิ้นผิงนำเสนอแผนริเริ่มเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผ่านการยกระดับอุตสาหกรรม โดยเขาสนับสนุนธุรกิจเอกชนอย่างแข็งขันและกระตุ้นนักธุรกิจ ‘ติดต่อโดยตรง’ ที่สำนักงานของเขาเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงขยายการปฏิรูปนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองไปยังเรื่องสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศด้วย
การขึ้นชื่อเป็นนักปฏิรูปของสีจิ้นผิงสร้างความประทับใจแก่บุคคลสำคัญระดับนานาชาติ โดยเดือนกันยายน 2006 เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ได้เดินทางเยือนจีนและเลือกนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง เป็นจุดหมายแรก
พอลสันยกให้สีจิ้นผิงเป็น ‘ตัวเลือกอันสมบูรณ์แบบ’ สำหรับการประชุมครั้งแรกของเขาในจีน พร้อมบรรยายว่าสีจิ้นผิงเป็น ‘คนที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย’ และต่อมาพอลสันที่พบปะหารือกับสีจิ้นผิงอีกครั้งในปี 2014 เล่าว่าผู้นำจีนคนนี้เผยว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการปฏิรูปและประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ปี 2007 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ สีจิ้นผิงเล็งเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้สู่การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันในฐานะศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของเซี่ยงไฮ้ในฐานะผู้นำการปฏิรูปและเปิดกว้าง
หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯ ในปี 2012 สีจิ้นผิงตรวจเยี่ยมนครเซินเจิ้นเป็นแห่งแรกตามรอยผู้เป็นพ่อ ที่ซึ่งเขาได้วางกระเช้าดอกไม้ ณ รูปปั้นสัมฤทธิ์ของเติ้งเสี่ยวผิงในสวนสาธารณะเหลียนฮวาซาน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นปฏิรูปอย่างแรงกล้า ‘เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง!’
การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 ในปี 2013 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเหมือนการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 11 ในปี 1978 ซึ่งเปิดฉากยุคสมัยแห่งการปฏิรูป โดยการประชุมในปี 2013 เปรียบดังรุ่งอรุณของยุคสมัยใหม่แห่งการปฏิรูป
การประชุมเต็มคณะฯ ในปี 2013 สีจิ้นผิงแจกแจงความท้าทายต่าง ๆ ที่จีนเผชิญระหว่างการพัฒนา ทั้งการทุจริตคดโกง การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยสีจิ้นผิงตอกย้ำว่า ‘กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ที่การปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น’
ที่ประชุมข้างต้น ได้ตัดสินใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งหนังสือพิมพ์ของสเปนแสดงความคิดเห็นว่าสีจิ้นผิงได้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารของจีนอย่างลึกซึ้งมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
หนึ่งเดือนถัดจากนั้น จีนประกาศจัดตั้งกลุ่มผู้นำส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Leading Group for Comprehensively Deepening Reform) โดยมีสีจิ้นผิงชี้นำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคฯ ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานผู้นำในส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปโดยเฉพาะ โดยกลุ่มผู้นำฯ พัฒนาเป็นคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Commission for Comprehensively Deepening Reform) ในเวลาต่อมา โดยมีสีจิ้นผิงเป็นผู้อำนวยการ
บุคคลผู้ใกล้ชิดกับกระบวนการตัดสินใจเผยว่า สีจิ้นผิงเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการปฏิรูปที่สำคัญและยากลำบาก และสีจิ้นผิงพิจารณาทบทวนร่างแผนการปฏิรูปที่สำคัญแต่ละร่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนชนิดแก้ไขคำต่อคำ
ที่มา : Xinhua / XinhuaThai