20 มิถุนายน พ.ศ. 2309 ‘ค่ายบางระจัน’ ถูกบุกตีแตก ต้องเสียค่ายให้แก่พม่า ปิดฉากวีรกรรมความกล้าหาญ หลังพระนครไม่สนับสนุน
‘ค่ายบางระจัน’ เป็นค่ายป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยจากกองทัพพม่าที่บางระจัน ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย
ปี 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของ ‘เนเมียวสีหบดี’ ยกเข้ามาในขอบคัณธสีมาด้านด่านระแหงแขวงเมืองตาก โดยกวาดต้อนผู้คนตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่มังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ สกัดกำลังจากชายทะเลทิศใต้ โดยหมายใจบรรจบเข้าที่กรุงศรีอยุธยา
ต้นเดือนมกราคม 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดี ได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันเพื่อลุกขึ้นต่อสู้
ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมืองง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจัน
ในเวลานั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงพาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก
ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายดอกไม้ และนายทองแก้ว รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม 11 คน ตั้งกองสู้กับกองทัพพม่า
การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง แต่ต้องแตกพ่ายทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที และไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง
สุกี้จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยใช้วิธีตั้งทัพอยู่เฉย ๆ เพราะรู้ว่าชาวบ้านใจร้อนเมื่อถูกยุทธวิธีรบแบบยืดเยื้อ ชาวบ้านก็มีใบบอกไปถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่และกระสุนมาต่อสู้กับพม่า แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยกรุงศรีอยุธยา ส่งมาแต่นายกองมาช่วยดู ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษทองเหลืองที่เรี่ยไรมาได้ หล่อเป็นปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่ปืนร้าว ใช้งานไม่ได้สุกี้รู้แล้วว่ากองทัพชาวบ้าน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระนคร จึงมั่นใจว่าชาวบ้านบางระจันเริ่มอ่อนแอ จึงสั่งให้ขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน แล้วเอาปืนใหญ่ตั้งหอสูงระดมยิงใส่ค่ายจนค่ายแตก ทำให้ไทยต้องเสียค่ายบางระจันแก่พม่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2309