'ม.วอชิงตัน' ทดลองพ่นเกลือให้เมฆ เพื่อหักเหแสงอาทิตย์ หวังลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ รอลุ้นผลอีก 3 ปี

แม้แสงจากดวงอาทิตย์ คือ แหล่งพลังงานความร้อนและแสงสว่างของโลก แต่ในขณะเดียวกันภาวะโลกเดือด (หรือภาวะโลกร้อน) ก็ทำให้ความร้อนที่ได้จากแสงอาทิตย์ยังถูกกักเก็บเอาไว้ในโลกและทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 

(4 พ.ค.67) TNN Tech รายงานว่า จากปัญหาดังกล่าว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) จึงริเริ่มทดลองแก้ปัญหา ด้วยการลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ โดยการสร้างเมฆเทียมเพื่อหักเหแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของโลก 

การทดลองดังกล่าวอิงจากพื้นฐานว่าเมฆสามารถหักเหแสงอาทิตย์ได้ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทีมนักวิจัยจึงเริ่มโครงการสร้างกระบวนการที่เรียกว่า การเพิ่มความสว่างของเมฆเหนือมหาสมุทร (Marine Cloud Brightening: MCB) เพื่อให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้โดยการสร้างและออกแบบของมนุษย์

ทั้งนี้ MCB เป็นการใช้ประโยชน์จากเมฆเหนือมหาสมุทรที่มักลอยตัวต่ำ เป็นวัตถุดิบในการสร้างเมฆที่ช่วยสะท้อนและหักเหแสง โดยการพ่นละอองเกลือเพื่อให้ไปถึงเมฆ ละอองเกลือจะทำให้เมฆเพิ่มความสามารถในการสะท้อนแสง และลดปริมาณความเข้มแสงที่ผ่านเมฆเข้ามาสู่โลก พร้อมทำให้เมฆมีความขาวชัดมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกระบวนการด้วยเช่นกัน

โดยสิ่งที่ทีมนักวิจัยทำก็คือการสร้างเครื่องพ่น (Spraying) น้ำทะเลไปยังระดับความสูงที่เมฆเลยตัวอยู่ พร้อมติดตั้งตัวเครื่องพ่นบน ยูเอสเอส ฮอร์เน็ต (USS Hornet CV-12) เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งปลดประจำการในปี 1970 ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำ บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา 

แม้ผลลัพธ์การทดลองเบื้องต้นจะยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่นักวิจัยในทีม ตลอดจนนักบรรยากาศศาสตร์ (Atmospheric scientist) เชื่อว่า การรบกวนธรรมชาติของเมฆด้วยเทคนิค MCB มีความเป็นไปได้ในการทดลอง โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือการสร้างละอองในอากาศ (Aerosoid) ที่มีความเหมาะสมในแง่ของขนาดและความเข้มข้น รวมถึงเครื่องพ่นที่มีกำลังการปล่อยที่เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อบันทึกข้อมูลการทดลอง โดยติดตั้งเครื่องมือวัดสภาพอากาศเหนือ USS Hornet รวมถึงปรับปรุงแบบเครื่องพ่นให้เหมาะสม โดยตั้งงบประมาณตลอดระยะเวลาโครงการไว้ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 370 ล้านบาท ซึ่งประมาณร้อยละ 10 ของงบ หรือประมาณ 37 ล้านบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ USS Hornet เป็นสถานที่ทดลองด้วย