เปิดประวัติ-วิสัยทัศน์ ‘รศ.ดร.พิภพ อุดร’ หนึ่งในแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้อธิการบดี ‘มธ.’

จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดให้มีการเสนอชื่อเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ แทน 'รศ.เกศินี วิฑูรชาติ' อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 24 พ.ค. 67 โดยกำหนดให้มีการเสนอชื่อเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ จำนวน 51 ส่วนงาน

ต่อมาวันที่ 19 เม.ย. 67 คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดให้ผู้ตอบรับการทาบทามหรือผู้สมัครเข้ารับการสรรหาได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานและแถลงแนวทางการบริหารต่อคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา และศิษย์เก่าของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับฟังการแถลงด้วย

สำหรับหนึ่งในรายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอ คือรศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ โดยมีประวัติดังนี้

>>คุณวุฒิการศึกษา
-ปี 2542 บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) สาขาการตลาด จาก Kenan-Flagler Business School, University of North Carolina at Chapel Hill, USA
-ปี 2535 บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.) สาขาการตลาด จาก School of Business and Public Administration, George Washington University, USA
-ปี 2532 บัญชีบัณฑิต (B.Acc.) จาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

>>การทำงาน/การดำรงตำแหน่งทางด้านบริหาร
-คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรควบ 5 ปี ตรี-โท
-รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

>>ประสบการณ์อื่น ๆ
-คณะกรรมการตรวจสอบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-อนุกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้านกฎหมาย/ระเบียบ/ข้อบังคับ
-ประธานคณะกรรมการวิชาการประจำคณะฯ
-กรรมการสภาอาจารย์
-กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

>>ประวัติการฝึกอบรมที่สำคัญ    
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 14
- หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 23
- Directors Certification Program (DCP) รุ่นที่ 270
- Directors Accreditation Program (DAP) รุ่นที่ 155
- Advanced Audit Committee Program (AACP) รุ่นที่ 36

ทั้งนี้ รศ.ดร.พิภพ อุดร ได้เปิดเผยแนวคิด Thammasat Next หรือ Thammasat for Better Life..Better Society แนวทางสร้างสรรค์ ชีวิตทำงาน เพื่อประชาคม ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pipop Udorn’ โดยมี 4 หัวข้อหลัก คือ
1. ระบบงาน ‘ยืดหยุ่น’ และ ‘สมาร์ท’
-เลิกใช้ไม้บรรทัดเดียววัดทุกหน่วยงาน
-Work From Anywhere
-ใช้ AI ช่วยลดปริมาณงาน และเพิ่มคุณภาพงาน

2. เส้นทางอาชีพเลือกได้
-เลือกเติบโตได้ตามสถานบริการ หรือ วิชาชีพ
-สร้างทักษะรองรับอาชีพที่ 2
เรียนต่อ ป.โท ฟรี ในแพลตฟอร์ม ‘TUXSA’

3. คุณภาพชีวิตดีขึ้น
-สวัสดิการยืดหยุ่นทั้งวงเงิน และวงเวลา
-ดูแลตั้งแต่แรกเข้าถึงหลังเกษียณ
-สวัสดิการบุคลากร ชัดเจน และ เท่าเทียม

4. คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีก
-จัดสิทธิพิเศษและส่วนลดค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
-เพิ่มจำนวนหอพักบุคลากร
-โรงอาหาร คือ สวัสดิการ ร้านค้าไม่เสียค่าเช่า ปรับราคาให้ถูกลงและเพิ่มคุณภาพ

นอกจากนี้ รศ.ดร.พิภพ อุดร ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์และทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต ผ่านเวทีดีเบต ‘เวทีสุดท้าย โค้งสุดท้าย’ 

รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า มีความตั้งใจอยากจะนำพามหาวิทยาลัยให้ก้าวไกลไปในเวทีโลก ปรับเปลี่ยนหลายรูปแบบเพื่อที่จะทำให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลก เพราะว่าโลกในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย

ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่เรียกว่า ‘ความรู้อายุสั้น’ แต่ ‘คนอายุยาว’ มหาวิทยาลัย เดินในรูปแบบเดิมไม่ได้ ถนนทุกสายไม่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป

จึงมีหลายเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะทำให้ยังมีความหมายในสังคม จึงอยากอาสาพามหาวิทยาลัยไปเวทีโลก สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและก็ยืนหยัดในจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ เดินหน้าสร้างความสุขให้กับบุคลากรให้กับนักศึกษาในทุก ๆ กลุ่ม

รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น Platform ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การเรียนรู้จาก Partner ต่าง ๆ และคอยทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการระดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก มาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศ เราจะตอบโจทย์ ของการที่จะทำให้ คนมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข สุขภาพดีและแข็งแรงขึ้นด้วย

“โลกที่ ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว ความรู้ที่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอให้ทำงานไปได้จนเกษียณ ทำอย่างไร จะเปิดให้คนกลับมาเติมเต็มความรู้ และทักษะที่ขาดหายได้ง่าย ๆ และตอบโจทย์การเรียนรู้ในทุก ๆ Generation อันนี้คือหัวใจ โดยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ในการคิดในการทำ เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าตัวเองเสมอ และนี่คือจุดสำคัญของมธ."

ส่วนการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการแสดงออกทางการเมือง รศ.ดร.พิภพ บอกว่า จิตวิญญาณธรรม ศาสตร์ มี 3 เสาหลัก คือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับนักศึกษาและบุคลากรทุกกลุ่ม ในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีภาพ ภายใต้กฎหมาย ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และความรับผิดชอบของผู้แสดงความคิดเห็น

ในฐานะอธิการบดีเราจะต้องเจรจากับหน่วยงานความมั่นคง หากมีการมาคุกคามพื้นที่ปลอดภัยในสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่ไม่ได้และไม่ควรทำ

ร.ศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องเจรจากับตำรวจที่ดูแลเรื่องความมั่นคงโดยรอบมหาวิทยาลัย และวิทยาเขตทั้ง4 ศูนย์ หากไม่ใช่เหตุละเมิด หรือรุนแรงเฉพาะหน้า ที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข จัดการ ต้องขออนุญาตมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าพื้นที่ ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ และเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

โดยต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างมีสันติภาพ และความสร้างสรรค์ การขัดขวางการแสดงออกไม่ใช่สิ่งที่ดีและมันจะกลายเป็นระเบิดเวลาของสังคมในที่สุด

ร.ศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย ที่การันตีเสรีภาพและความปลอดภัยในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นทั้งนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร หน่วยงานความมั่นคงต้องทำงาน อันนี้เราเข้าใจ แต่ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน และก่อนเข้าพื้นที่ควรจะต้องมีการขออนุญาตและเจรจากับเราเสมอ โดยที่เราจะจัดบุคลากรของเราร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คู่กับฝ่ายมั่นคงและความปลอดภัย