ทำความรู้จัก ‘แร่แคดเมียม’ ราคาสูง มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ต้องการ ในอุตสาหกรรม ‘ผลิตแบตเตอรี่-ผลิตสี-ชุบโลหะ’

(8 เม.ย.67) แร่แคดเมียม เป็นแร่โลหะ มักพบปะปนในสายแร่สังกะสี ตะกั่ว และทองแดง แม้จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ก็เป็นที่ต้องการใน 3 อุตสาหกรรม คือ
• การผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ หรือแบตเตอรี่แบบนิเกิล-แคดเมียม (Ni-Cd) ซึ่งชาร์จซ้ำได้มากและจ่ายกระแสไฟได้สูงกว่าแบตเตอรี่ลิเทียม รวมถึงสามารถใช้งานได้ทั้งในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและต่ำ แต่มีข้อเสียคือ ความจุพลังงานน้อยกว่าแบตลิเทียมและเสียความจุหากชาร์จไม่ถูกวิธี รวมถึงเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
• การชุบโลหะเนื่องจากแคดเมียมมีคุณสมบัติต้านทานการกัดกร่อนสูง จึงสามารถนำไปชุบเคลือบโลหะอื่นเพื่อป้องกันสนิมหรือการกัดกร่อน รวมถึงมีแรงเสียดทานต่ำจึงนิยมใช้เคลือบชิ้นส่วนเครื่องจักรที่มีการเสียดสี เช่น เฟือง ลูกปืน ฯลฯ อีกทั้งยังอ่อนตัวทำให้เคลือบชิ้นงานที่พื้นผิวซับซ้อนได้ง่าย
• การผลิตสีซึ่งเม็ดสีจากแคดเมียมจะให้สีเหลืองสด สีส้ม และสีแดง ซึ่งทดทานต่อแสงและการกัดกร่อนของสารเคมี

ด้วยความต้องการในภาคอุตสาหกรรมนี้ทำให้ราคาและมูลค่าตลาดแคดเมียมโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยตามข้อมูลของ Statista เมื่อปี 2023 ราคาเฉลี่ยของแคดเมี่ยมในสหรัฐอเมริกาอยูที่ 4.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคา 3.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในปี 2022 และรายงาน 360 Industry Research  ประเมินว่าตลาดแคดเมียมโลกเมื่อปี 2021 มีมูลค่า 41.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตเป็น 47.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027 สอดคล้องกับรายงานของ Reports and Data ที่คาดว่าตลาดแคดเมียมจะเติบโตเฉลี่ย 4.28% ต่อปีไปจนถึงปี 2030

ส่วนตลาดแคดเมียมในเอเชียตะวันออกนั้น indexbox.io รายงานว่าตลาดเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2021-2022 หลังการหดตัวต่อเนื่องในช่วง 4 ปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้งานค่อนข้างทรงตัว

กากจากการทำเหมืองเป็นแหล่งแคดเมียมหลัก
ทั้งนี้ แคดเมียมที่มีการซื้อขายในตลาดโลกและใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มาจาก 2 แหล่ง คือ ผลพลอยได้ของการทำเหมืองแร่สังกะสี เหมืองตะกั่ว เช่นเดียวกับกากแคดเมียมที่พบลักลอบขนย้ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นกากแร่ที่เหลือจากการทำเหมืองสังกะสี-ถลุงโลหะสังกะสีของบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอน จำกัด (มหาชน) ที่เดิมถูกฝังกลบในบ่อกักเก็บกากแร่ไปแล้ว ส่วนอีกแหล่งจะมาจากการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่มีแคดเมียมอยู่

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคานี้มีความผันผวนสูง เนื่องจากหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรมต่างพยายามลดการใช้งานแคดเมียมลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยอัตรายจากแคดเมียมต่อมนุษย์นั้นเกิดเมื่อรับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายใน 2 ช่องทาง คือ การหายใจเอาไอซึ่งจะเกิดเมื่อได้รับความร้อน 321 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือฝุ่นของสารนี้ รวมถึงจากควันบุหรี่เข้าไป และการกินทั้งโดยตรงและกรณีปนเปื้อนในอาหาร

เมื่อแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมที่หมวกไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง และเป็นพิษต่อกระดูก โดยทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน มีความผิดปกติของกระดูกสันหลังทำให้ร่างกายโก่งเตี้ยลง และมีอาการปวดกระดูกรุนแรงโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต-อิไต

จนกระทั่งเข้าสู่อาการระยะสุดท้าย ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด การเผาผลาญผิดปกติ โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากภาวะไตวาย