‘เกาหลีใต้’ สร้าง ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ ได้สำเร็จ ร้อนกว่าดวงอาทิตย์จริง 7 เท่า นาน 48 วินาที

(3 เม.ย. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความ เกาหลีใต้สร้าง ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ ร้อนกว่าดวงอาทิตย์จริง 7 เท่า ระบุข้อความว่า…

“นับเป็นครั้งแรกที่เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันโทคามัค แอดวานซ์ รีเสิร์ซ (Tokamak Advanced Research หรือ KSTAR) หรือชื่อที่รู้จักในวงการเทคโนโลยีพลังงานว่า ดวงอาทิตย์เทียมของเกาหลีใต้ (Korean Artificial Sun) พัฒนาโดยสถาบัน Korea Institute of Fusion Energy (KFE) ในประเทศเกาหลีใต้ สามารถสร้างอุณหภูมิได้สูงถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส หรือก็คือร้อนกว่าแกนกลางดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียสประมาณ 7 เท่า และสามารถคงอุณหภูมินี้ไว้ได้นาน 48 วินาที ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในการทดสอบระหว่างเดือนธันวาคม 2023 - กุมภาพันธ์ 2024”

และระบุเพิ่มเติมว่า “นอกจากจะสามารถสร้างอุณหภูมิได้มหาศาลแล้ว ยังสามารถอยู่ในโหมดการจำกัดสูง (High Confinement Mode) หรือโหมด H ซึ่งเป็นขั้นที่พลาสมาเสถียร ได้นานกว่า 100 วินาที ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของ KSTAR เพราะเมื่อในปี 2021 ศักยภาพของ KSTAR สามารถสร้างอุณหภูมิสูงเพียง 1 ล้านองศาเซลเซียส และอยู่ในโหมดการจำกัดสูงได้เป็นเวลา 30 วินาทีเท่านั้น”

แม้ว่าจะไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาและขนาดใหญ่เท่ากับดวงอาทิตย์ แต่ด้วยกระบวนการสร้างพลังงานภายในที่อาศัยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้ออกมาได้ความร้อนในระดับเดียวกันกับดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะดวงนี้ เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันนี้จึงเสมอเหมือนเป็นดวงอาทิตย์เทียมนั่งเอง
ดังนั้นผลลัพธ์ในการทดลองของ KSTAR ครั้งนี้ ก็จะถือเป็นข้อมูลล้ำค่าให้โครงการอื่น ๆ นำไปศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม เช่น โครงการเครื่องปฏิกรณ์ทดลองเทอร์โมนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ( International Thermonuclear Experimental Reactor หรือ ITER) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับนานาชาติมูลค่า 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.82 แสนล้านบาท โครงการนี้ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่มีหลายประเทศร่วมพัฒนา เช่น เกาหลีใต้ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และรัสเซีย