สส.ก้าวไกล อภิปราย งบส่วนราชการในพระองค์ เน้นย้ำ ให้เปิดเผย อย่างโปร่งใส เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

(23 มี.ค.67) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วยคะแนนเสียง 298 ต่อ 166 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 ภายหลังอภิปรายกันมา 3 วัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวขอบคุณสภาที่ได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความสุข สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกมิติ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้งบอย่างคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ กำกับดูแลให้มีความโปร่งใส และบรรลุผลสัมฤทธิ์

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขอรับข้อคิดเห็น คำแนะนำ และข้อสังเกตไว้ด้วยความขอบคุณ และจะนำไปปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณต่อไป ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สภาจะส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ให้วุฒิสภาพิจารณาในวาระ 2-3 ในวันที่ 26 มี.ค. นี้ หากได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาสูง นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป

ก่อน สส. จะลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 ในวันสุดท้ายของการอภิปราย เหลือเนื้อหาพิจารณาทั้งสิ้น 15 มาตรา จากทั้งหมด 41 มาตรา

หนึ่งในประเด็นที่กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น และมีสมาชิกผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติคือ การขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ (มาตรา 36) ลงตั้งแต่ 0.5-50% หลังจาก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ไม่มีการปรับปรุงเนื้อหาที่ผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ

อย่างไรก็ตามมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกขึ้นอภิปรายเพียงคนเดียวเท่านั้น ก่อนบอกว่า “ในฐานะกรรมาธิการ ดิฉันไม่ติดใจ” ทำให้ที่ประชุมสภาไม่ต้องลงมติในมาตรานี้ ในปีงบประมาณ 2567 ส่วนราชการในพระองค์ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,478.3 ล้านบาท โดยระบุแผนงานไว้รายการเดียวเช่นทุกปีคือ “แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ”

บีบีซีไทยตรวจสอบรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. (เอกสารเล่มที่ 1 ปกสีขาวคาดเขียว) พบว่า มาตรา 36 มี กมธ. ขอสงวนความเห็นทั้งสิ้น 11 คน และมี สส. ขอสงวนคำแปรญัตติทั้งสิ้น 70 คน โดย สส. กลุ่มใหญ่ถึง 39 คน เสนอให้ปรับลดงบของส่วนราชการในพระองค์ลง 5% เกือบทั้งหมดเป็น สส.ก้าวไกล รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วย

ส่วน สส. ที่เสนอให้ตัดงบส่วนราชการในพระองค์ลงกึ่งหนึ่ง หรือ 50% มาจากพรรค ก.ก. เช่นกัน โดยมี 2 คนคือ ว่าที่ ร.ต.สมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต และนายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ เสนอให้ปรับลดงบลง 31.4% ส่วน น.ส.รัชนก ศรีนอก หรือ 'ไอซ์' สส.กทม. เสนอให้ปรับลดงบลง 10% แต่ทั้งหมดไม่มีใครใช้สิทธิอภิปรายแต่อย่างใด

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ กมธ. ที่ขอสงวนความเห็นไว้ โดยให้ปรับลดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์เหลือ 8,224 ล้านบาทเศษ หรือลดลง 254.3 ล้านบาท บอกว่า “สังเกตเห็นพัฒนาการของหน่วยงานนี้” โดยปีนี้ หน่วยงานได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มาชี้แจงให้ กมธ. รับทราบรายละเอียดที่มาที่ไปของงบประมาณ และที่พิเศษกว่านั้นคือมีการส่งเอกสารชี้แจงในรูปแบบที่ตกลงกับสำนักงบประมาณและค่อนข้างครบถ้วนรวม 21 หน้า และส่งแผนการเบิกจ่ายงบไปพลางก่อนปี 2566 ด้วย ในฐานะที่เป็น กมธ.งบประมาณ มาเป็นปีที่ 5 เธอไล่เลียงพัฒนาแต่ละปีงบประมาณเอาไว้ ดังนี้
• ปี 2563 ไม่มีการส่งเอกสารชี้แจง มีเพียงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้มาชี้แจงแล้วก็จบ ไม่มีการซักถามต่อเนื่อง
• ปี 2564 มีการพูดรายละเอียดเล็กน้อย โดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้ชี้แจงเหมือนเดิม
• ปี 2566 เป็นปีแรกที่ส่วนราชการในพระองค์มอบหมายให้เลขาธิการ ครม. มาชี้แจงแทน โดยมีการฉายคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจ/ภารกิจ และส่งเอกสารชี้แจงจำนวน 8 หน้า
• ปี 2567 เลขาธิการ ครม. เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อสงสัยต่าง ๆ และส่งเอกสารชี้แจงในรูปแบบที่ตกลงกับสำนักงบประมาณจำนวน 21 หน้า อีกทั้งยังส่งแผนการเบิกจ่ายงบไปพลางก่อนปี 2566 ด้วย

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า งบที่ลดลง 133 ล้านบาทเศษจากปีงบประมาณก่อน มาจากการที่บุคลาการของหน่วยรับงบประมาณลดลง โดยมีบุคลาการรวมทั้งสิ้น 14,704 ราย อยู่ในสำนักองคมนตรี เป็นข้าราชการ 83 ราย, ข้าราชการในสำนักพระราชวัง 6,658 ราย, หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ 7,943 ราย และลูกจ้างประจำในสำนักพระราชวังราว 20 ราย
กมธ.จากก้าวไกลกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องความซ้ำซ้อนโครงสร้างหน่วยงานที่อาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตเราจะมีวิธีพูดคุย หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้

“ดิฉันคิดว่าการยิ่งเปิดเผย ยิ่งโปร่งใส จะยิ่งนำไปสู่ความสง่างาม และเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ท่าน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ในตอนท้าย ก็ยังได้กล่าวด้วยว่า “ในมาตรานี้ ดิฉันในฐานะกรรมาธิการ ไม่ติดใจ” ทำให้ที่ประชุมสภาไม่ต้องลงมติในมาตรา 36 และยึดเนื้อหาและวงเงินตามที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ดังเดิม