‘ดร.สุวินัย’ ชี้!! มุมดี ‘ปรีดี’ ช่วยไทยรอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ลดบาป 'ต้นคิดการปฏิวัติ 2475' ก่อนคณะราษฎรสิ้นอำนาจ

(14 มี.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความรีวิวแอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยระบุว่า…

ผมเพิ่งดู ‘แอนิเมชั่น ๒๔๗๕’ จบลงด้วยความประทับใจ และขอเสนอมุมมองที่อาจจะแตกต่างกับผู้ชมทั่วไปบ้าง  ดังนี้

- อยากให้เราย้อนกลับไปดูสถานการณ์ของยุโรปใน ปี ค.ศ. 1926 หรือ 6 ปี ก่อนการปฏิวัติ 2475 (ค.ศ. 1932) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พวกคณะผู้ก่อการปฏิวัตินัดประชุมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อคิดก่อการปฏิวัติในนามของ ‘คณะราษฎร’.... คนพวกนี้คือ Mastermind หรือกลุ่มต้นคิดการปฏิวัติ 2475

- ยุโรปในปี ค.ศ. 1926 คือเพิ่งผ่านการปฏิวัติบอลเชวิค (การปฏิวัติรัสเซีย) ในปี ค.ศ. 1917 มาแค่ 9 ปี หลังจากที่เลินนิน ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติรัสเซีย เจ้าลัทธิมาร์กซ-เลนิน เพิ่งเสียชีวิตใน ปี ค.ศ. 1924 ‘ระบอบสตาลิน’ (ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ) เพิ่งจะก่อตัวในรัสเซีย

ขณะนั้น ‘ความจริงของการปฏิวัติสังคมนิยม’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันยูโทเปียอีกต่อไป

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่เด็กบ้านนอกจากสยาม อย่างนายปรีดี จะตื่นเต้นกับการปฏิวัติรัสเซียในระดับคลั่งไคล้ มิหนำซ้ำ เขาคือผู้นำทางความคิดเพียงคนเดียวของคณะก่อการกลุ่มนี้ ขณะที่สมาชิกผู้ก่อการคนอื่น ไม่ได้มีองค์ความรู้เรื่องการปฏิวัติรัสเซียแบบนายปรีดี พวกเขาแค่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนำระบอบรัฐสภาและประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในประเทศสยามตามแบบอังกฤษ เพื่อทำให้สยามเป็นอารยประเทศเท่านั้น

- ผมคิดว่าความต้องการให้มีระบอบรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ของคณะผู้ก่อการกลุ่มนี้มีความชอบธรรมนะ เพราะมันคือทิศทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสยามอยู่แล้ว แค่ช้าหรือเร็วเท่านั้น

ตัวนายปรีดีต่างหาก คือ ‘ความแปลกแยก’ ในหมู่คณะผู้ก่อการกลุ่มนี้ เพราะตัวนายปรีดีคนเดียวเท่านั้นที่มีหัวเอียงซ้ายตามโมเดลการปฏิวัติบอลเชวิก ขณะที่ผู้ก่อการคนอื่นแค่อยากเร่งกระบวนการ Modernization ของสยามเท่านั้นเอง

นี่คือความย้อนแย้งแบบปฏิบท (Paradox) ของการปฏิวัติ 2475

กล่าวคือ ถ้าไม่มีนายปรีดีมาเป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการตั้งแต่แรก การปฏิวัติ 2475 น่าจะไม่ประสบความสำเร็จและลงเอยด้วยการเป็นกบฏ เหมือนกลุ่มทหารหนุ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนหน้านี้

ถ้าไม่มีนายปรีดี คณะผู้ก่อการกลุ่มนี้ก็แทบไม่ต่างจากกลุ่มกบฏทหารหนุ่มก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

- ‘ใบปลิว Fake News’ ที่นายปรีดีจงใจเขียน เพื่อโจมตี บิดเบือนใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ และเอามากระจายแจกจนเป็น ไวรัล ไปทั่วกรุงช่วงนั้น คือจุดเริ่มต้นของ ‘ความเลวร้าย’ ที่ ‘อุตส่าห์ปฏิวัติสำเร็จ แต่ไม่สามารถรักษาการปฏิวัติอย่างเป็นระบบได้’ สุดท้ายก็แค่ได้ ‘คณะผู้นำทหารกลุ่มใหม่’ มาเถลิงอำนาจรัฐ และหลงไหลในอำนาจรัฐที่ตัวเองครอบครองอยู่เท่านั้น

โดยที่คนสุดท้ายที่ชนะใน ‘เกมอำนาจคณะราษฏร’ นี้ นายทหารหนุ่มที่ชื่อ แปลก พิบูลสงคราม (ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการรองจากนายปรีดีที่เป็นหัวหน้า) ที่สุดท้ายนายแปลกก็ทำตัวเป็น ‘เจ้าคนใหม่’ ในระบอบฟาสซิสต์ไทยอยู่ช่วงหนึ่งเสียเอง ไม่ต่างจากบทบาทของนายฮุนเซนในเขมร

- จึงไม่แปลก ที่ช่วงสุดท้าย หรือ End Game ใน ‘เกมอำนาจคณะราษฏร’ จึงเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐระหว่างนายปรีดี หัวหน้าคณะผู้ก่อการ กับนายแปลก รองหัวหน้าคณะผู้ก่อการ ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะอันเบ็ดเสร็จของนายแปลก ในปี พ.ศ. 2490 หรือ 15 ปีหลังการปฏิวัติ 2475

- ความย้อนแย้งอีกอันหนึ่ง คือคุณูปการของนายปรีดีในวัยกลางคน ในฐานะ ‘ผู้นำขบวนการเสรีไทย’ ที่ช่วยให้ประเทศไทยหลุดรอดจากหายนะของผู้นำประเทศอย่างนายแปลกที่พาประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองร่วมกับญี่ปุ่น

- โดยส่วนตัว ผมไม่อาจยอมรับนายปรีดีในวัย 32 ที่ก่อการปฏิวัติ 2475 ได้  ... ในสายตาของผม นายปรีดีตอนนั้นเป็นแค่ปัญญาชนที่ร้อนวิชา คลั่งการปฏิวัติรัสเซีย และขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับความเป็นจริงของคนไทยและสังคมไทย

แต่ผมเคารพในคุณูปการของนายปรีดี ที่มีวุฒิภาวะแล้วในวัยกลางคนในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย  ... เพราะเขาเองก็เติบใหญ่ทางความคิดและมีประสบการณ์ทางโลกจนเจนจัดแล้ว

มันจึงเป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งของตัวนายปรีดีเอง ที่เริ่มจากเป็นตัวการให้เกิดกลียุคในบ้านเมืองโดยการปฏิวัติ 2475 แต่สุดท้ายก็เป็นนายปรีดีนี่แหละที่เป็น ฮีโร่ช่วย save ประเทศไทยจากวิกฤตช่วงนั้นเอาไว้ได้ในฐานะ ‘ผู้นำขบวนการเสรีไทย’