‘นักวิชาการ’ วิเคราะห์!! แนวโน้มยุบ ‘พรรคก้าวไกล’  99.99% ‘รอดยาก’ แต่ลุ้นรอดได้ถ้า ‘ศาล รธน.’ ถูกยุบ

(13 มี.ค.67) จากเว็บไซต์สำนักข่าวไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล กรณีเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ว่า คำวินิจฉัยมีโอกาสออกมา 2 ทางคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ซึ่งตรงนี้จะทำให้พรรคก้าวไกลไม่ถูกยุบ กับอีกทางคือหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง คำวินิจฉัยก็ออกมาได้เพียง 2 ทางเช่นเดียวกัน คือยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค กับยกคำร้อง

นายยุทธพร กล่าวอีกว่า แต่ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะถูกยุบนั้นมีถึง 99.99% อีก 0.01 คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกยุบไปก่อนเท่านั้นเอง ดังนั้นโอกาสเป็นอย่างอื่นจึงเป็นไปได้ยาก เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 เขียนเอาไว้ชัดว่า หาก กกต.เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อ ว่าพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 92 (1) คือการล้มล้างการปกครอง และ 92 (2) คือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์กับ ระบอบการปกครอง ซึ่งกกต. ยื่นไปทั้ง 2 กรณีดังนั้นโอกาสที่จะ พ้นจากมาตรา 92 จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก และอย่าลืมว่าฐานความผิดตามมาตรา 92 ในกฎหมายพรรคการเมือง ก็คือความผิดฐานเดียวกันกับมาตรา 49 แนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ออกมาแล้วในเรื่องของการล้มล้างการปกครอง ทั้งในเรื่องของพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง แม้กระทั่งการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นในคดีนี้จึงมีโอกาสสูงมากที่จะนำไปสู่การยุบพรรคด้วย

“เหตุผล 2 อย่างคือข้อกฎหมายฐานความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 กลับมาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญนั้นฐานความผิดเดียวกัน เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ตาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าการกระทำดังกล่าวผิดมาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญ ก็คงจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากมาตรา 92 (1) และ (2) กับกรณีที่ 2 คือเรื่องพฤติการณ์ข้อเท็จจริง เรื่องการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในคดีนี้ กกต. เอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีล้มล้างการปกครองฯ มาเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่จำเป็นต้องไปสืบพยานหรือ แสวงหาพยานหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีก ก็สามารถตัดสินได้เลยโดยอาศัยแค่คำวินิจฉัยและต่อบทกฎหมาย” นายยุทธพร กล่าว

นายยุทธพร กล่าวว่า ส่วนในแง่ของการโต้แย้ง ก็คงเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดี โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจจะให้พรรคก้าวไกลทำคำโต้แย้ง ซึ่งก็โต้แย้งได้เพียงประเด็นเดียวคือ คำวินิจฉัยนั้นเกิดขึ้นภายหลังการกระทำ ดังนั้นแม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กรก็จริง แต่ก็ต้องผูกพันหลังมีคำวินิจฉัย โดยก่อนคำวินิจฉัยแม้ศาลจะบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวคือความผิดตามมาตรา 49 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ แต่เป็นสิ่งที่ศาลมาชี้ภายหลัง จึงอาจไม่สามารถเอาผิดได้ แต่แนวโน้มส่วนตัวก็ยังมองว่า ถูกยุบ 99.99% และจะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคในขณะนั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย เพราะในกฎหมายเขียนไว้ว่า ถ้ามีเหตุแห่งการยุบพรรคให้ศาลตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคด้วย ส่วนจะตัดสิทธิ์กี่ปีนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเพราะในกฎหมายไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าจะตัดสิทธิ์กี่ปี โดยไม่มีเพดานกำหนดเอาไว้