‘พปชร.’ เดินหน้าวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน หวังเป็นที่ยอมรับของ ปชช. เตรียมให้ สส.ลงพื้นที่มากขึ้น - จ่อเป็นคนกลางเชื่อมการเมือง 2 ฝ่าย

(11 มี.ค. 67) สิ้นเสียงของ ‘ลุงป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พปชร. ประกาศปรับลุคเคลื่อนทัพทางการเมืองใหม่ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถูกสังคมส่องสปอตไลต์ตลอด ไปถอดรหัสผ่านมุมมองของนักการเมืองระดับเก๋าเกม โลดแล่นอยู่บนถนนเส้นนี้กว่า 30 ปี โดย นายวราเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการ พปชร. และแกนนำอีกคนของ พปชร. สะท้อนให้เห็นถึงจุดประสงค์ของการประกาศดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับผู้สนับสนุนพรรค พปชร.

ขณะนี้กำลังวางยุทธศาสตร์ทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้น ทั้งฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้า พปชร. เป็น รมช.สาธารณสุข พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา พปชร. เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะ 2 กระทรวงหลัก เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายนำเสนอไปแล้วถูกใจประชาชนหรือไม่ แต่ไม่ได้ทิ้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน ท่องเที่ยว

ซึ่งมีผู้มีประสบการณ์ผ่านมาแล้วหลายกระทรวง มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เข้ามาดูควบคู่กันไป อาจเรียกได้ว่าด้านเศรษฐกิจมีผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยไปกว่าพรรคอื่น ไม่อยากพูดว่าเหนือกว่าพรรคอื่น

บนเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งให้ พปชร. เพื่อกลับมาในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกพรรคการเมืองต้องมีความพร้อม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจการเมืองในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นว่าพร้อมวันนี้

ฉะนั้นเป้าหมายปี 67 ทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดนโยบาย ปี 68 ประกาศชัดเจนเดินไปข้างหน้าอย่างไรให้ประชาชนยอมรับมากขึ้น

โดยให้ผู้สมัคร สส.ที่ไม่ได้รับเลือก ติดพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน หลายเขตเป็นผู้ที่มีศักยภาพ มีโอกาสในการเลือกตั้งครั้งหน้า และ สส. 39 เขต กระจายทั่วทุกภาค ไปขยายฐานเพิ่ม

โดยเฉพาะความเห็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ยังมองไม่เห็นคนกลางที่สามารถเชื่อมทั้ง 2 ฝ่าย และอาจมีฝ่ายที่ 3 ที่คิดว่าทั้ง 2 ขั้วก็ไม่ถูกต้อง

แต่รัฐบาลมีความตั้งใจ ถ้าไม่สำเร็จ ขอแค่ได้เริ่มสัก 50%

วางให้ชัดเจนในส่วนที่สามารถยอมรับกันได้ โดยเฉพาะการแก้ไขรธน. กติกาในการ บริหารประ เทศที่ออกมาเป็นที่ยอมรับแค่ไหน

ทั้งนี้ การสลายขั้วทางการเมืองกับการแสดงความคิดเห็นต้องแยกกัน สลายขั้วอาจเป็นพรรค และผู้สนับสนุน แต่สลายขั้วทางความคิด อาจเป็นเรื่องยาก

ฉะนั้นความคิดต่างกันได้ แต่ต้องยอมรับกติกาเลือกตั้ง ปล่อยฝ่ายชนะได้บริหารประเทศ ฝ่ายแพ้ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยกเว้นเกิดทุจริต คงต้องปล่อยให้ระบบจัดการ

ขณะนี้เริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่ฝ่ายค้าน และรัฐบาลยอมรับในบางเรื่องที่ถูกต้อง ยอมรับความเห็นของพรรคตรงข้าม ตรงนี้ขึ้นอยู่กับสังคมที่สามารถชี้นำ และบีบฝ่ายที่ไม่มีเหตุผลหรือทำไม่ถูกต้อง

ภาพรวมรัฐบาลอยู่ตลอดรอดฝั่งครบเทอม 4 ปี หรือไม่ นายวราเทพ บอกว่ารัฐบาล พรรคการเมือง สส. ล้วนอยากให้อยู่ครบวาระ รวมถึงผมด้วย เพื่อทำให้การเมืองต่อเนื่อง

เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นสภาฯ และรัฐบาลได้ทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน มากกว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเร่งด่วนในขณะนี้

“ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน 4 ปี พรรคร่วมรัฐบาลยังสามัคคี ไม่มีความขัดแย้ง

แต่ปัจจัยภายนอกที่คนเห็นอยู่ และคิดได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยโครงสร้างปัจจุบันบอกว่าพรรคการเมืองยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะพรรคแกนนำมีเสียงไม่เกินกว่าครึ่งหนึ่ง”

‘รัฐบาลสลายขั้ว’ ตรงกับนโยบาย พปชร. ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ทั้งรัฐบาล และ พปชร.ต้ องปรับบทบาทอย่างไร เพื่อให้เดินไปสู่รัฐบาลสลายขั้ว สร้างความปรองดอง นายวราเทพ บอกว่า เราเป็นพรรคอันดับ 3 สนับสนุนเต็มที่ และมีจุดยืน ทำให้สังคมเกิดความสงบ

แต่การขับเคลื่อนต้องรอพรรคเพื่อไทย แกนนำอันดับ 1 โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ที่กำลังดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการแก้ รธน.หรือการทำประชามติแก้ รธน.

การเคลื่อนไหวของ ‘ลุงป้อม’ ยังถูกจับตามีโอกาสกลับมาเป็นรองนายกฯ เพราะตามโควตาพรรค พปชร.เหลืออีก 1 เก้าอี้รัฐมนตรี นายวราเทพบอกว่า มองเชิงการเมืองอาจคาดการณ์ได้ อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์

แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหัวหน้า พปชร. และต้องหารือตกลงร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำ ที่ยังไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ หรือเป็นกิจจะลักษณะ

กระแสที่จะกลับมาเป็นนายกฯ ช่วงหลังวุฒิสภาอภิปรายทั่วไปรัฐบาล นายวราเทพบอกว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะมี อาจมีคนคิด แต่ในส่วนของ พปชร.ผมไม่เคยได้ยิน

เพราะทางการเมืองกำลังจะเกิดปรากฏการณ์ยุบ 2 พรรค มีการทาบทาม สส.ของทั้ง 2 พรรคเข้าร่วมงานกับพรรค พปชร.อย่างไร นายวราเทพ บอกว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนือจากความเป็นทางการ
ผมยังไม่ได้ยินกรณีนี้ มีหรือไม่มี เราพูดยาก อาจมีก็ได้ แต่เขาคงไม่อยากให้มีการพูดถึง มันเป็นเรื่องอนาคต ยังไม่รู้ผลจะเป็นอย่างไร

‘ลุงป้อม’ เคลื่อนไหวทางการเมืองลักษณะนี้ ได้รับสัญญาณพิเศษอะไร นายวราเทพ บอกว่า ไม่มีสัญญาณพิเศษ แต่อยากเห็นพรรคต่างจากในอดีต เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วทิ้งงานของพรรค ไม่มีใครรับผิดชอบ พอยุบสภาฯ ถึงกลับมาหาประชาชน หากผลงานรัฐบาลดีอาจได้รับการรับเลือก แต่ถ้าผลงานไม่ดีอาจแพ้เลือกตั้ง

คราวนี้เราต้องทำงานคู่ขนานกับการร่วมรัฐบาล พปชร.ต้องเคลื่อนไหวตลอดให้ประชาชนสัมผัสได้