'ผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี' เผยภาพเครื่องแต่งกาย ยืนยันไม่ได้ 'แต่งชุดดำ' ชี้!! ข้อกล่าวหา 'กบฏนักข่าว' ร้ายแรง ไม่เคยคิดข้องเกี่ยวทางการเมือง

เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.67) จากกรณีที่นายวีรพงษ์ กาศรี ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด และ น.ส.นัฏฐนันท์ เต็มโบติโกศล ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เอชดี ช่อง 32 เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ให้ดำเนินคดีต่อบัญชีเฟซบุ๊ก 3 ราย และบัญชี TikTok 1 ราย หลังกล่าวหาว่านักข่าวของไทยรัฐทีวีนั้นใส่เสื้อผ้าชุดดำ ไม่จงรักภักดี ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ทางบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งยังได้กล่าวหาว่าผู้บริหารช่องไทยรัฐทีวี...ไปแล้ว ผู้เสียหายจึงได้มอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 ก.พ.มีการรวมตัวกันของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า จุฬาฯ รักพระเทพ ของศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย นางวิรังรอง ทัพพะรังสี และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนัดรวมตัวกันสวมเสื้อสีม่วงทั่วประเทศ เพื่อถวายกำลังใจแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปรากฏว่ารายการข่าวเที่ยงไทยรัฐ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ที่ออกอากาศในวันดังกล่าว ผู้ประกาศข่าว 3 คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเข้ม ที่ผู้ชมทางบ้านเข้าใจว่าเป็นสีดำ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว แม้หนึ่งในผู้ประกาศข่าวโพสต์ข้อความยืนยันถึงความจงรักภักดี และรายการในวันถัดมาจะสวมเสื้อโทนสีม่วงก็ตาม

ล่าสุดเฟซบุ๊ก Suebsakul Pundee ของนายสืบสกุล พันธุ์ดี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เอชดี ช่อง 32 โพสต์ภาพเครื่องแต่งกายที่ผู้ประกาศข่าวทั้งสามคนได้ใส่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. พร้อมข้อความระบุว่า "ถึงเวลาแล้วที่ต้องชี้แจงเรื่องสีเสื้อ ... อยากให้ช่วยแชร์ ให้ขึ้นฟีด ... วันนี้เอาภาพเสื้อจริงที่ใส่ในวันดังกล่าวมาให้ทุกคนดู

‘กบฏนักข่าว’ พร้อมใจแต่งกายชุดดำ.. นี่คือการกล่าวหาร้ายแรง

• กรณีการที่มีบุคคลบางคนในโลกโซเชียลนำภาพการแต่งกายของผู้ประกาศและระบุข้อความในลักษณะทำให้เกิดความเข้าใจผิดร้ายแรง จนมีการกล่าวหาเลยเถิดว่าเป็น ‘กบฏนักข่าว’ ที่ ‘พร้อมใจ’ กันแต่งกายด้วยชุดสีดำ แชร์ออกไปในวงกว้างนั้น

• ไทยรัฐได้ดำเนินการฟ้องเอาผิดต่อบุคคลที่ดำเนินการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ ส่วนการแชร์หรือแสดงความคิดเห็นต่อ ถือว่าเป็นสิทธิที่ท่านทำได้ แต่หากการแชร์นั้นย่อมเกิดความเสียหายทวีคูณ และแม้ว่าผู้ประกาศที่ตกเป็นบุคคลที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์มิได้ออกมาชี้แจงใด ๆ เพื่อมุ่งหวังว่าจะป็นการลดภาวะทางอารมณ์ของคนในสังคม แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีการแชร์ต่อและคอมเมนต์ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ลุกลาม ขยายวงกว้าง และยังมีคำถามว่าเหตุใดถึงพร้อมใจกัน ‘แต่งชุดดำ’

• ได้เวลาชี้แจงและแสดงภาพหลักฐาน ดังนี้

• การแต่งกายของ ผปก.ในวันดังกล่าว มีการออกแบบโดยเน้นโทนสีน้ำเงิน ฟ้าอมเทา ซึ่งไม่อิงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ถือเป็นโทนสีกลาง ๆ โทนสีสุภาพ โทนสีที่สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกสถานการณ์และทุกกาลเทศะ...จะมีการแต่งกายของผู้ประกาศชายเท่านั้น ที่มีการสวมใส่เสื้อยืดคอกลมสีดำด้านใน เหตุผลดังนี้ เพราะเป็นเสื้อคอกลมที่ใส่แล้ว สวมสูทสีใดทับได้ง่าย และโดยหลักสากลการแต่งกายผู้ชาย หากมองเรื่องโทนสีหลักของการสวมใส่นั้น จะดูสีของสูทเป็นสีหลัก ซึ่งการใส่สูทในวันนั้นคือสูท ‘สีฟ้าอมเทา’ ดังนั้นจึงมิได้มีเจตนาใส่ ‘สีดำ’ ทั้งชุด หรือให้สีดำเป็นสีหลักของการแต่งกายแต่อย่างใด โดยการสวมเสื้อยืดคอกลมสีดำนั้น จะได้รับการตำหนิจากบุคคลบางท่าน ขอน้อมรับคำ ‘ติเพื่อก่อ’ ในกรณีที่มีการหยิบเสื้อยืดคอกลมสีดำ ตัวที่ "คิดว่าสวมใส่ได้โดยง่าย และเข้ากับสีสูททุกสี" มาสวมใส่ แต่เจตนาที่แท้จริงมิได้เป็นเจตนาที่จะใส่ชุดดำ

• ส่วนสีเสื้อของ ผปก.หญิงทั้ง 2 คน ขอให้ดูตามภาพ และคงไม่ต้องอธิบายว่าคือสีอะไร ที่แน่ๆ คือ ‘ไม่ใช่สีดำ’ ดังที่มีบุคคลวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘นักข่าวพร้อมใจกันใส่ชุดดำ’, ‘กบฏนักข่าวสวมสีดำ’ ซึ่งทำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจผิด

• จึงเรียนทุกท่านให้ทราบ ด้วยเรามิได้มีเจตนาที่ไม่ดี และเราในฐานะผู้ประกาศ มิได้มีความคิดที่จะยุ่งเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการแสดงออกทางความคิดที่แตกต่าง เรา..ทำหน้าที่ตรงกลางในฐานะคนอ่านข่าว และเราก็เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ที่ไม่อาจก้าวล่วงความคิด หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนในสังคม

• ดังนั้น ด้วยความเคารพ โปรดอย่านำเรื่องที่เกิดขึ้นไปเป็นเครื่องมือใดๆ ในการกล่าวอ้างให้เกิดความเสียหายและความเข้าใจผิดต่อสังคม จะด้วยเจตนาใดๆ ของท่านก็ตาม ขอขอบพระคุณ ที่ทุกท่านได้อ่านข้อความนี้ ....

• หมายเหตุ (ที่ควรอ่าน) ..คำชี้แจงนี้ มิได้มุ่งหวังที่จะเอาผิด คิดร้าย หรือต้องการให้เกิดความขัดแย้งเพิ่ม เพียงแต่ต้องการสะท้อนว่า "ความเป็นธรรม" คือพื้นฐานของสังคม เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข และเป็นกรณีตัวอย่าง ที่ควรนำไปเป็นกรณีศึกษา ในภาวะที่สังคมมีความละเอียดอ่อน

• ด้วยความเคารพและนับถือ"

ด้าน นายนพดล พรหมภาสิต แกนนำกลุ่มปกป้องสถาบัน และอดีตผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) โพสต์คอมเมนต์ว่า "ในเมื่อชี้แจงแล้ว (ถึงจะมาช้า) ก็สุดแต่ใครจะรับฟัง

ถ้าคิดว่าการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ทำไป แต่การต่อความยาวสาวความยืดรังแต่จะทำให้เกิดรอยปริร้าว

ถ้าศาลรับฟ้องก็เอาเหตุผลแต่ละฝ่ายพร้อมพยานไปชี้แจงให้ศาลฟัง ซึ่งก็น่าแปลกใจ ทำไมคนจำนวนมากถึงคิดไปในทางเดียวกันได้"