‘อรรถวิชช์’ ซัด!! ผังเมืองใหม่กรุงเทพฯ ฟังนายทุนมากกว่าประชาชน  ไม่ทำผังเมืองเฉพาะ ปล่อยทุนอสังหาฯ ล่าซอยเล็ก ผุดตึกใหม่ไม่เลิก

(7 ม.ค. 67) จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าบรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียด หลังจากที่ กทม. เปิดให้ประชาชนซักถามในประเด็นต่างๆ โดยประชาชนมีความเห็นไปในทางไม่เห็นด้วยกับร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว

ทั้งนี้ หนึ่งในเสียงที่พูดแทนประชาชนในวันนั้นได้อย่างดุเดือดมาจากเสียงของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีต สส.กทม.เขตจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า...

“จากที่มาร่วมสังเกตการณ์ พบว่าสีที่กำหนดในผังเมืองต่างๆ เป็นการกำหนดที่เอื้อกลุ่มนายทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หรือไม่ และการรับฟังความเห็นประชาชนที่กำหนดไว้ก็ให้เวลาน้อยเกินไป ทำให้เนื้อหาในผังเมืองที่จะต้องทำผังเมืองเฉพาะ ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงลงไปได้เลย”

“ขอยกตัวอย่างเขตจตุจักรและพญาไท ซึ่งเป็นเขตที่ตนคุ้นเคยนั้น ถนนส่วนมากในตรอกซอกซอยมีความกว้าง 6 เมตร แต่ในความจริงทั้งสองข้างทางมีกระถางต้นไม้วางเรียงเป็นแนวยาวตลอดช่วง ทำให้ความกว้างถนนเหลือเพียง 4.5 เมตรเท่านั้น แต่บริเวณนี้มีการอนุญาตให้สร้างตึกได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์เข้ามา การวัดพื้นที่จะวัดแบบกำแพงชนกำแพง ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งการจะห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมรอบข้างได้ ก็คือ การระบุลงไปในผังเมืองนั่นเอง

หรือย่านถนนพหลโยธิน แถวซอยราชครู และ ซอยสายลม ย่านนี้มีรถไฟฟ้าผ่าน ก็มีข่าวลือว่า จะมีการขยายถนนด้านหลังตรอกซอกซอยเหล่านี้ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เจ้าหนึ่ง ทั้งๆ ที่ซอยมีขนาดเล็ก… ปัญหาทั้งสองนี้ มีปัญหาทุกพื้นที่ เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์มีความต้องการพื้นที่เหล่านี้ ทำให้เวลาทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงไม่สะท้อนข้อเท็จจริง ซึ่งการจะทำผังเมืองเฉพาะ กทม.ต้องลงมาฟังเสียงประชาชนให้ครบถ้วน”

“อีกปัญหาหนึ่งคือ ทางลัดต่างๆ ยกตัวอย่างแถวคลองเปรมประชากรที่มาคู่กับรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต หากกำหนดให้ทำสะพานเล็กข้ามสันเขื่อนคอลงเปรมประชากร การจราจรจะสามารถไหลไปสู่เขตหลักสี่ ทุ่งสองห้อง ไปเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงทุ่งสองห้องได้ แต่ปัจจุบันไม่มีการดำเนินการ หรือเขตจอมทองที่มีถนนราชพฤกษ์ บริเวณ ซอยเอกชัย 30 และ เอกชัย 33 ซึ่งสามารถทำทางลัดทะลุได้ แต่ กทม.กลับมาแผนก่อสร้างถนนขนาดใหญ่ ถนนสายใหม่ เชื่อมถนนสุขสวัสดิ์-เพชรเกษม-กาญจนาภิเษกแทน และชาวบ้านไม่เอาโครงการนี้”

นายอรรถวิชช์ กล่าวอีกด้วยว่า “สุดท้ายความเป็นเมืองซับน้ำของกรุงเทพฯ ก็จะหายไป จากการขยายพื้นที่สร้างบ้านจัดสรรและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น” พร้อมตั้งคำถามอีกว่า “บางจุด ยกตัวอย่างเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ทำไมยกเป็นเขตสงวนได้? จริงๆ แล้วพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ควรจะต้องประกาศเป็นเขตสงวนแล้ว ไม่เช่นนั้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ จะผุดโครงการใหม่ๆยัดในซอยเล็กๆ อีก”

“กทม.ควรขยายเวลารับฟังประชาชนมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่ขยายเวลาออกไป กทม.จะไม่รับทราบข้อมูลจากประชาชน แต่จะได้ข้อมูลแต่จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์” นายอรรถวิชช์ ทิ้งท้าย