130 ปี รำลึก ‘เหมา เจ๋อตง’ ความเงียบเหงา เพราะ ‘หนุ่ม-สาวจีน’ เหินห่าง ภายใต้ค่านิยม ‘นอนหายใจทิ้ง’ ที่กำลังท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

วันที่ 26 ธันวาคม 2566 รัฐบาลปักกิ่งจีนได้เตรียมงานฉลองวันคล้ายวันเกิด ให้กับ 'เหมา เจ๋อตง' อดีตผู้นำ และนักปฏิวัติผู้ก่อตั้ง วางรากฐานระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และได้รับการขนานนามว่า ‘บิดาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน’

เหมา เจ๋อตง เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2436 หากท่านประธานเหมา มีชีวิตถึงวันนี้ ก็จะมีอายุครบ 130 ปีพอดี  

โดยปกติ รัฐบาลจีนจะจัดงานรำลึก วันคล้ายวันเกิดให้แก่ เหมา เจ๋อตง เป็นประจำทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งงานพิธีทางการที่จะจัดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง และ ที่บ้านเกิดของเขา ที่เมืองเฉาชาน ในมณฑลหูหนาน 

แต่ทว่าในปีนี้ รัฐบาลจีนตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีให้เรียบง่ายกว่าที่ผ่าน ๆ มา แม้แต่งานรำลึกที่บ้านเกิดของ เหมา เจ๋อตง ก็มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม โดยแหล่งข่าวในจีนเปิดเผยว่า ทางการจีนไม่ต้องการให้งานรำลึกของ เหมา เจ๋อตง โดดเด่นจนเกินไป เพื่อป้องกันการถูกโยงไปเป็นประเด็นถกเถียงในกลุ่มแนวคิดฝ่ายขวา และ ฝ่ายซ้าย ที่โต้แย้งกันถึงปรัชญาแนวทางในระบอบสังคมนิยมของเหมา เจ๋อตง ที่ผ่านมาว่าถูกต้อง เหมาะสมกับจีนหรือไม่

โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคม และ เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากโลกเมื่อ 50 ปีก่อน ในช่วงที่ เหมา เจ๋อตง เชื่อมั่นว่าสามารถสร้างชาติจีนที่มั่งคั่ง เสมอภาค และ เท่าเทียมได้ด้วยการ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ หนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความแตกแยกในสังคมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 

แต่ทั้งนี้ เหมา เจ๋อตง มักถูกยกให้เป็นดั่งผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้วางรากฐานอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อนที่สังคมจีนจะเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์โดย เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยการเปิดประเทศ และรับเอารูปแบบเศรษฐกิจระบบทุนนิยม มาผสมผสานเป็นระบอบสังคมนิยมใหม่ ที่ส่งเสริมการแข่งขันของภาคเอกชนในตลาดเสรีมากขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน 

แต่เมื่อมาถึงยุคของผู้นำ สี จิ้นผิง ผู้ที่ประกาศเจตนารมณ์ในการสืบทอดอุดมการณ์ของ เหมา เจ๋อตง และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายอย่าง โดยเน้นนโยบายรวมศูนย์มากขึ้น บริหารงานผ่านระบบรัฐวิสาหกิจ มากกว่าภาคเอกชน เพื่อรัฐสามารถควบคุมได้ง่าย 

รวมถึงนโยบายตัดตอนกลุ่มนายทุนใหญ่ในภาคธุรกิจการเงิน เทคโนโลยี อี-คอมเมิร์ซ และการศึกษาที่ผ่านมา ส่งผลต่อกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจเอกชนขนาดย่อยในประเทศอย่างมาก 

ทับถมด้วยเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจากช่วงวิกฤติ Covid-19 และ ปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ทำให้หนุ่ม-สาวจีนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวัง ขาดแรงจูงใจในการต่อสู้เพื่อก่อร่าง สร้างตัว ด้วยความทะเยอทะยาน มุ่งมั่น ซึ่งแตกต่างจากคนจีนรุ่นก่อน ๆ ในยุคสร้างชาติ 

จนเกิดวัฒนธรรมของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ‘ถั่งผิง’ - นอนหายใจทิ้ง และ ‘ไป่ลั่น’ - ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม เพราะคิดว่าการทำงานหนัก เพื่อสร้างฐานะ กลายเป็นเป้าหมายที่เกินเอื้อม

ดังนั้น หนุ่ม-สาว จีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกเฉยชา และไม่ค่อยอินกับปรัชญาอุดมการณ์ของเหมา เจ๋อตง ส่งผลให้งานรำลึกถึงวันคล้ายวันเกิดอดีตผู้นำที่มักถูกยกย่อง เทิดทูนให้เป็น 'บิดาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน' ก็ได้รับความสนใจน้อยลงเรื่อย ๆ

ประกอบกับภาพลักษณ์ของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน ถูกมองว่าซ้อนทับกับอัตลักษณ์ของ เหมา เจ๋อตง ในแง่การกระชับอำนาจทางการเมืองสูงสุดได้อย่างเบ็ดเสร็จ และการแก้รัฐธรรมนูญให้ผู้นำจีนสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัดสมัย ซึ่งอาจจะไม่ใช่แง่ดีนักในมุมมองของหนุ่ม-สาวจีนยุคใหม่ 

นั่นอาจเป็นสาเหตุที่รัฐบาลจีน ตัดสินใจลดทอนงานรำลึกถึง เหมา เจ๋อตง ให้เรียบง่ายลง เพื่อหลีกเลี่ยงการจุดประเด็นที่ถกเถียงในสังคม แต่ยังคงไว้ซึ่งพิธีการที่สำคัญ ตามแบบฉบับคุณธรรมของชาวจีน ที่ต้องมีการรำลึกบรรพบุรุษ ที่อุทิศตนทำงานหนักเพื่อสร้างชาติ ดังเช่น ส่วนหนึ่งในบทความที่ สี จิ้นผิง เคยเขียนไว้ว่า...

"การรำลึกถึงสหาย เหมา เจ๋อตง ที่ดีที่สุดคือ การสืบทอดเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ ที่เขาและเหล่าสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ ได้ทุ่มเท ทำงานอย่างหนักเพื่อบ้านเมือง และเขียนประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ให้ได้” 

ในวันที่อุดมการณ์เหล่านั้น กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พรรคคอมมิวนิสต์จีน จะทำเช่นไรต่อไป คงต้องติดตามดูกัน...


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: The Straits Times / VOA