‘คมนาคม’ เล็งเจรจาผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสี ปรับเวลาให้บริการตั้งแต่ตี 4 รับดีมานด์เที่ยวปีใหม่

(18 ธ.ค.66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บูรณาการร่วมกันในการเพิ่มจุดเชื่อมต่อในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา อาทิ เพิ่มจุดส่งผู้โดยสารขาเขากรุงเทพฯ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รวมไปถึงการขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้าจากเดิมเปิดบริการ 05.00 น. ปรับเป็นเปิดบริการ 04.00 น.ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2566 ถึง 2 ม.ค. 2567

“เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนแบบไร้รอยต่อ ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พูดคุยขอความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในทุกสีไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าที่กำกับโดยภาครัฐเท่านั้น แต่จะได้รับความร่วมมือกี่สายทางต้องรอผลการเจรจาในเร็วๆ นี้ ต่อไป ส่วนการให้บริการรถไฟฟ้าในคืนส่งท้ายปี 2567 จะมีการเปิดให้บริการถึง 02.00 น. เหมือนทุกปี” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับปริมาณผู้โดยสารคาดว่าส่วนของ ร.ฟ.ท. จะมีประชาชนใช้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ขณะที่ บขส. คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 7 หมื่นคนต่อวัน โดยยืนยันว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรถเสริมไว้ให้บริการประชาชนที่มีความประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยืนยันว่าจะไม่มีผู้โดยสารตกค้าง อีกทั้งประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อระบบด้วยรถไฟฟ้าเพื่อรองรับการเดินทางกลับหลังปีใหม่ด้วย

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จากนโยบายเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางปีใหม่ ร.ฟ.ท.ได้จัดแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง ตลอดจนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ครั้งนี้ การรถไฟฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมโดยการเพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถประจำจำนวน 214 ขบวนต่อวัน และเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสารจำนวน 12 ขบวน สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2566 - 2 ม.ค. 2567 กระทรวงฯ ได้ประเมินการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสารรวมประมาณ 9 ล้านคนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% แบ่งเป็น รถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และรถไฟฟ้าที่ให้บริการโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 8.4 ล้านคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 6.7 ล้านคนเที่ยว ส่วนรถไฟระหว่างเมือง คาดผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 6.18 แสนคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 5.67 แสนคนเที่ยว