‘โรคไอกรน’ ระบาดหนักในปัตตานี ป่วยทะลุ 108 ทารกดับ 1 ‘แพทย์’ แนะ ปชช.ฉีดวัคซีนป้องกัน ลดอัตราการเสียชีวิตได้

(13 ธ.ค.66) สถานการณ์ไอกรนจังหวัดปัตตานี วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องในหลายอำเภอ รวม 108 ราย เสียชีวิตเด็กเล็กอายุ 18 วัน จากอำเภอเมือง จำนวน 1 ราย อำเภอเมืองปัตตานีเกิดมากที่สุด จำนวน 27 ราย รองลงมาอำเภอยะรัง จำนวน 24 ราย และ อำเภอแม่ลาน 12 ราย อำเภอมายอ 9 ราย อำเภอทุ่งยางแดง 8 ราย อำเภอสายบุรี กับอำเภอไม้แก้น อำเภอละ 6 ราย อำเภอยะหริ่ง 5 ราย อำเภอปะนาเระกับอำเภอหนองจิก อำเภอละ 4 ราย อำเภอกะพ้อ 3 ราย ส่วนอำเภอโกโพธิ์ ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ  

ทางด้านนายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวยืนยัน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการติดเชื้อไอกรนกระจายในหลายอําเภอ ที่ผ่านมามีทารกที่ติดเชื้อจากคนในบ้านเสียชีวิตด้วย ขณะที่แนวโน้มการติดเชื้อยังคงสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากอัตราการรับวัคซีนของเด็กในพื้นที่จังหวัดปัตตานีน้อย ทั้งที่โรคไอกรนและอีกหลายๆ โรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนําบุตรหลานรับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์อายุ ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

>> อาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

ระยะแรก เด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ

ระยะที่สอง มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มีอาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ 

ระยะฟื้นตัว กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อยๆ ลดลง ทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์