‘นักวิจัยจีน’ คิดค้น ‘ขั้วไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ประสาท’  อาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เฟซ ช่วยรักษา ‘โรคสโตรก’ 

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ การศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารแอดวานซ์ แมททีเรียลส์ (Advanced Materials) ระบุว่า กลุ่มนักวิจัยของจีนได้พัฒนาขั้วไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ประสาทสมองไฮโดรเจลแบบฝังเข้าไปในร่างกายชนิดใหม่ เพื่อช่วยการฟื้นตัวของหนูทดลองที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก ซึ่งช่วยไขกระจ่างเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เฟซระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุหลักของภาวะอัมพาตครึ่งซีกและความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนการควบคุมการยิงสัญญาณของเซลล์ประสาท การทำงานของจุดประสานประสาท และวงจรประสาทสมอง รวมถึงส่งเสริมการฟื้นตัวของเซลล์ประสาทสมองและวงจรเซลล์ประสาทที่เสียหาย

ทีมวิจัยดังกล่าวที่นำโดยจางเฉียง จากสถาบันเคมีประยุกต์ฉางชุน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พัฒนาขั้วไฟฟ้าข้างต้นซึ่งสามารถรับข้อมูลเส้นประสาทสมองในจุดกำเนิด และควบคุมเส้นประสาทสมองในระดับเซลล์เดียวได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ติดตามข้อมูลของเซลล์ประสาทสมองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ติดต่อกัน และใช้เทคโนโลยีการควบคุมเส้นประสาทด้วยแสง เพื่อควบคุมวงจรประสาทในสมองและการตอบสนองของแขนและขา โดยการควบคุมเซลล์ประสาทที่บาดเจ็บในพื้นที่สมองของหนูทดลองที่ได้รับความเสียหายจากโรคหลอดเลือดสมอง สามารถลดพื้นที่เนื้อเยื่อสมองขาดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการฟื้นตัวด้านการเคลื่อนไหว

จางระบุว่า เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างความคืบหน้าในแง่ของการออกแบบขั้วไฟฟ้าตรวจจับเส้นประสาท การติดตามสัญญาณประสาท การควบคุมเส้นประสาท และการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง อีกทั้งมีประโยชน์ในการรับข้อมูลเส้นประสาทสมองและรักษาความผิดปกติของสมอง


ที่มา : Xinhua / XinhuaThai