ระบบรางไทยร้อนแรง!! ลอยกระทงวันเดียว โกยผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน

‘กรมรางเผย’ วันลอยกระทง 66 ผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน-เที่ยว ยอดใช้บริการเพิ่มจากลอยกระทงปีก่อน 29.62 % เปิด 2 สายน้องใหม่ “เหลือง-ชมพู”เพิ่มโครงข่ายเดินทาง ส่วน MRT สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง เกิน 8.2 หมื่นคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73%

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง พบว่ามีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวน 434,307 คน-เที่ยว หรือ 29.62% โดยลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย. 65) มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวม จำนวน 1,466,357 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 808,736 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 877,451 คน-เที่ยว) 

สำหรับลอยกระทง ปี 2566 จำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 67,561 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รถไฟระหว่างเมือง รฟท. ให้บริการรวม 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 67,561 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 7,373 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 12.25% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 60,188 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 27,483 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 59,505 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 21,015 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 46,546 คน-เที่ยว

2.ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการรวม 3,248 เที่ยววิ่ง (รวมรถเสริม 36 เที่ยววิ่ง) มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 426,934 คน-เที่ยว หรือมากกว่า 30.36% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 1,406,169 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 781,253 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 817,946 คน-เที่ยว) โดยผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้เพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน และเพิ่มขบวนรถเสริม ประกอบด้วย

>>รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 221 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 6 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,005 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 8,651 คนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 13.24% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 65,354 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 14,284 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.12% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 19,535 คน-เที่ยว) สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง ผู้โดยสารพุ่ง 8.2 หมื่นคน-เที่ยว

>>รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 82,358 คน-เที่ยว (นิวไฮ) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 34,991 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.87% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 47,367 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 510,288 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 131,538 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 34.73 % (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 378,750 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทและสายสีลม (สีเขียว) ให้บริการรวม 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 981,658 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 102,897 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 11.71% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 878,761 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 17,182 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 780 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 4.76% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 16,402 คน-เที่ยว)

โดยวันลอยกระทงปีนี้มีรถไฟฟ้าให้บริการเพิ่มมา 2 เส้นทาง รวม 444 เที่ยววิ่ง จำนวน 133,793 คน-เที่ยว คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,198 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ให้บริการ 168 เที่ยววิ่ง จำนวน 93,595 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) 

นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขร. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะไปลอยกระทงในช่วงเย็นถึงค่ำ โดยได้เน้นย้ำผู้ให้บริการระบบรางบริหารจัดการผู้โดยสารบนสถานีรถไฟฟ้า (Crowd Control) และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเส้นทางการเข้าสู่สถานี รวมทั้งเพิ่มความถี่ จัดขบวนรถเสริม และจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการระบบรางด้วยแล้ว โดยพบว่า เมื่อวานไม่มีเหตุอันตรายต่อผู้ใช้บริการระบบรางแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้น พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวมและรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 82,358 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73.87% ส่วนรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) เพิ่มขึ้น 73.12% เมื่อเทียบกับวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้มีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อที่สะดวกขึ้น (interchange) และมีราคาจูงใจด้วยค่าโดยสารสายสีม่วงและสายสีแดง ราคาสูงสุด 20 บาท

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วมสองสายจ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที