‘กองทุนดีอี’ หนุนโครงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เดินหน้าสร้างมิติใหม่การทำธุรกรรมภาครัฐและเอกชน

กองทุนดีอี หนุนโครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

จากแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการทำงานและขั้นตอนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ สร้างบริการของภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลและสามารถให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ผ่านระบบชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐที่ไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลและความมั่นคงของชาติผ่านการจัดเก็บ รวบรวม และแลกเปลี่ยนอย่างมีมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูล

อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) โดยอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนา มีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) งานบริการ Agenda ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการขับเคลื่อนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 12 งานบริการ โดยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เป็น 1 ใน 12 งานบริการสำคัญการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตนเพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ กรมการปกครอง 

จากนโยบายดังกล่าว ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) จึงได้ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณในโครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) โดยทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

สำหรับโครงการนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ในการทำธุรกรรมภาครัฐและเอกชน ที่มีความสะดวกรวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัลและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการแอบอ้างหรือปลอมแปลงตัวตน ในกระบวนการยืนยันตัวตนตามระบบเดิม ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนการบริการประชาชนในภาครัฐและเอกชนที่จะต้องปรับตัวและวิธีการตอบสนองการบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้าหรือมีการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของประชาชนที่ต้องการใช้สิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล จำนวน 60 ล้านคน และในส่วนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบริการออนไลน์ที่ต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จำนวน 200 หน่วยงาน

ทั้งนี้ ในส่วนของประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ในส่วนของประชาชนจะมีบัญชีผู้ใช้งาน (Digital ID) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงได้โดยสะดวก และสามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงข้อมูล และบริการต่าง ๆ ของรัฐได้ (Single Account) ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถนำระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือ มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี มีระดับความมั่นคงปลอดภัยสูง สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปใช้ในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Service) ของหน่วยงานตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถผลักดันประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย