วิกฤตคนหนุ่มสาวจีน ‘หมดไฟ-ไม่อดทน-ไร้ความพยายามสู้ชีวิต’ อ้าง!! แรงแข่งขันสูงในสังคม ผลักให้กลับมาเกาะพ่อแม่กิน

เมื่อไม่นานนี้ ได้มีผู้ใช้ติ๊กต็อกช่องหนึ่ง ชื่อ ‘daodiy’ ออกมาเล่าถึงสถานการณ์ในสังคมยุคปัจจุบัน ที่กำลังเกิดวิกฤตจากการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ขาดความพยายามในการเอาตัวรอดในสังคม และหันมาพึ่งพาพ่อแม่มากขึ้น โดยเจ้าของช่องได้ระบุว่า…

ในปัจจุบัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีนที่ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ หรือที่เรียกกันว่า ‘เกาะพ่อแม่กิน’ มีจํานวนอัตรามากกว่า 270 ล้านคนทั่วประเทศ โดยคนกลุ่มนี้ ในภาษาจีนมีชื่อเรียกว่า ‘เขินเหล่าจู๋’ (啃老族) ซึ่งถ้าแปลเป็นตรงตัวจะหมายถึง ‘กลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุ’

กลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุเหล่านี้ กำลังมีจํานวนที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมจีน และแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต ประเด็นสําคัญที่ทําให้คนกลุ่มนี้ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ

1.) ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่เป็นลูกคนเดียวของที่บ้าน โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับการประคบประหงม ถูกดูแลอย่างดีจากคุณพ่อคุณแม่ ตั้งแต่เด็กจนโต โดยเฉพาะคนที่เกิดในช่วงปี 1985 ถึงประมาณ 1990 เป็นต้นไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนกลุ่มนี้มักจะเติบโตมาในครอบครัวที่มีอันจะกิน จึงทําให้พวกเขานั้นไม่มีความสามารถที่จะต่อสู้กับคนในสังคมได้มากนัก หรือก็คือ ‘ขาดทักษะในการเอาตัวรอด’ นั่นเอง เพราะว่าคนกลุ่มนี้นั้นพึ่งพาครอบครัวของเขามาตลอด

2.) การศึกษา ในระบบการศึกษาของจีนนั้นยังเน้นสอนแบบการ ‘ท่องจํา’ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เด็กจีนมีทักษะในการเอาตัวรอดในสังคมค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้น นักศึกษาที่เรียนจบไปส่วนใหญ่ มักจะเก่งแค่เรื่องของทฤษฎีและวิชาการ แต่ในด้านการปฏิบัติเมื่อต้องออกไปเจอสังคมภายนอก อาจจะทำให้เอาตัวรอดได้ยาก

3.) เศรษฐกิจของจีน สังคมในที่ทํางานส่วนใหญ่นั้นมักจะมีความกดดัน หรือการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและรุนแรง ทําให้คนรุ่นใหม่หลายคนเกิดความเหนื่อยล้า จนยอมแพ้และลาออกจากงาน เพื่อกลับไปบ้านกับพ่อแม่ จนในที่สุดก็กลายเป็นกลุ่มคนที่เกาะพ่อแม่กินนั่นเอง

4.) ระบบในสังคมจีน ซึ่งยังเป็นระบบของที่มีการใช้ ‘ความสัมพันธ์’ (Relationship) หรือที่เรียกกันว่า ‘ระบบเส้นสาย’ ในสังคมค่อนข้างสูง ทำให้คนที่มีเส้นสายสามารถเข้าไปอยู่ในหน่วยงานดีๆ ได้ทํางานที่ดีๆ ส่วนคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดีนัก หรือว่าที่บ้านไม่ได้มีเส้นสาย ก็ต้องไปต่อสู้ แก่นแย้งกับคนที่มีเส้นสาย ทําให้คนกลุ่มนี้ ขาดกำลังใจ เกิดความหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต และสุดท้ายก็กลับไปอยู่บ้าน ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจีน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงยิ่งขึ้นในอนาคต

แล้วที่ ‘ประเทศไทย’ ล่ะ… เป็นอย่างไรบ้าง?