‘นพ.วรรณรัตน์’ แนะ!! รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งระยะยาว ช่วยเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี

(5 ต.ค. 66) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมอภิปรายในญัตติการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยระบุว่า ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศ ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น การเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง ฝนตกหนักจนน้ำท่วม พายุหมุนที่รุนแรง ภาวะความแห้งแล้ง เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างมหาศาล ต่อมวลมนุษยชาติ อย่างที่ชาวโลกกำลังประสบอยู่ในเวลานี้

ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยสูง เป็นอันดับที่ 9 ของโลก รองจาก เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งการเกิดอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 680 ราย และส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคนแล้ว ยังสร้างความเสียหาย และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ของ GDP หรือประมาณ 40% งบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นต้องมีกรอบการทำงานที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว ในทุกลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ นับตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นต้นไป 

"ไม่ว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณ มากน้อยเพียงใด เราก็จำเป็นต้องทำเพราะหากเรามัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวแล้ว เราก็จะไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่านี้ได้อย่างถาวร"

เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศของภาคอุตสาหกรรมด้านการค้าการลงทุน ที่มีการก่อสร้างทั้งถนนมอเตอร์เวย์, ระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดินหลายล้านล้านบาท เราก็ยังกล้าลงทุน แต่เรายังไม่เคยลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรกรรมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของน้ำ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมขังแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบเก็บกักน้ำหรือแก้มลิง และระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบพร้อมกันไปด้วย เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากปัญหาอุทกภัย มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี และมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอย่างพอเพียงและยั่งยืน

“ถ้าเรามีน้ำเพื่อการเกษตรกรรมอย่างพอเพียงแล้ว เกษตรกรก็สามารถที่จะทำนาทำไร่ และประกอบอาชีพเกษตรกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ สามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้าสามารถนำไปขายได้ในราคาที่เป็นธรรมแล้ว เชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้สิน และปัญหาความยากจนของเกษตรกรก็จะหมดสิ้นไป หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ จึงขอฝากรัฐบาลพิจารณาดำเนินการ จัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากให้หมดไป รวมทั้งการพัฒนาระบบชลประทาน และแหล่งเก็บกักน้ำให้พอเพียงกับความต้องการทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”