เปิด 4 มาตรฐานใหม่ ยกระดับรางรถไฟไทย ปลอดภัยขั้นสุด

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง ครั้งที่ 8-2/2566 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง และผ่านระบบ Zoom cloud meetings  

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างมาตรฐาน จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่...

1. มาตรฐานองค์ประกอบทางรถไฟ (Track Components) เพื่อใช้กำหนดมาตรฐานการทดสอบและการรับรองคุณสมบัติและประสิทธิภาพขององค์ประกอบทางรถไฟ ซึ่งประกอบด้วย ราง เชื่อมต่อราง อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง และหมอนรองราง สำหรับทางรถไฟขนาดกว้าง 1.000 เมตร และขนาด 1.435 เมตร

2. มาตรฐานตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ (Railway Track Transition Zone) เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดมาตรฐานและเทคนิคในการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงในตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟขนาดกว้าง 1.000 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ที่เชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟที่มีหินโรยทางกับทางรถไฟที่ไม่มีหินโรยทางหรือทางรถไฟบนพื้นคอนกรีต รวมไปถึงตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ ที่เชื่อมต่อกับสะพาน (Bridge) อุโมงค์ (Tunnel) ท่อทางลอดระบายน้ำ (Culvert) และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าความแข็งเกร็งแบบทันทีทันใด เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทางรถไฟบริเวณตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ

3. มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟชนิดมีหินโรยทาง (Ballasted Track Design) เพื่อใช้สำหรับเป็นข้อกำหนดมาตรฐานและเทคนิคในการออกแบบทางรถไฟชนิดมีหินโรยทาง บนทางรถไฟขนาดกว้าง 1.000 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย

4. มาตรฐานระบบระบายน้ำบนทางรถไฟสำหรับระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง (Track Drainage System for Intercity Rail) เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดด้านเทคนิคสำหรับการระบายน้ำบนทางรถไฟในเขตทางรถไฟของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทั้ง 4 มาตรฐานดังกล่าว โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะผู้จัดทำ นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุง ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป