พาเที่ยว ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย’ ชมงานศิลป์ชิ้นเอก ที่ประเมินค่ามิได้
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความหลงใหลในงานศิลปะของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ที่ได้สะสมมาตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
การเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และก็เพื่อเชิดชูเกียรติของบิดาแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย อย่าง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น จะมีการออกแบบอย่างสวยงามและอาร์ทสุดๆ สมกับที่เป็นพิพิภัณฑ์ศิลปะมาก ที่ด้านนอกของอาคารแห่งนี้ ก็ได้มีการนำเอาหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตให้กลายเป็นลายก้านมะลิ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และมีลายฉลุเพื่อให้แสงแดดสามารถส่องทะลุลงมา โดยแสงที่ส่องลงมานั้น ในแต่ละช่วงเวลาก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
อาคารของพิพิธภัณฑ์ที่ขาวนวล ดูสะอาดตา มีพลังอันยิ่งใหญ่ที่เรารู้สึกได้ทันที เมื่อได้เดินทางมาถึงที่นี่ ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งนี้ ก็จะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะของบรรดาศิลปินแห่งชาติหลายๆ ท่าน อาทิเช่น อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นต้น
เมื่อเดินเข้ามาที่ ชั้น G ที่นี่จะเป็นบริเวณของห้องนิทรรศการถาวร ที่จะจัดแสดงผลงานประติมากรรม ของ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ และ ห้องนิทรรศการถาวรงานจิตรกรรม ของ ศาสตราจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ
ในส่วนของชั้นที่ 2 ก็จะเป็นห้องนิทรรศการถาวรงานศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งก็จะแบ่งเป็นศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตของแต่ละยุคแต่ละสมัยจากรุ่นสู่รุ่น จัดแสดงความหลากหลายในปัจเจกภาพทางความคิด ผลงานศิลปะล้วนสะท้อนวิถีชีวิตของยุคสมัย ทัศนะ ความคิด อุดมคติ และความเป็นไปของเหตุการณ์ในสังคม อาทิ ผลงานสื่อผสมของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมและสื่อผสม ในส่วนของห้องนิทรรศการผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย ค่านิยมทางสังคม เช่น ผลงานของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, ปรีชา ปั้นกล่ำ, วุฒิกร คงคา, ทวี รัชนีกร, วีรศักดิ์ สัสดี, ลำพู กันเสนาะ, เด่นพงษ์ วงศาโรจน์ รวมถึงงานจิตรกรรมเชิงพุทธปรัชญา โดยศิลปิน รุ่นใหญ่อีกหลายท่าน อาทิอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร และ อาจารย์ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ เป็นต้น
ชั้น 3 ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย แห่งนี้ได้จัดแสดงงาน ที่เน้นศิลปะเชิงความคิดฝันและจินตนาการภายใต้คติและความเชื่อของคนไทย หลายๆภาพในห้องจัดแสดงห้องนี้ ก็จะเล่าเรื่องผ่านภาพเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติ อย่างภาพ “นางผมหอม” นางในวรรณคดีโดยถ่ายทอดออกมาจาก จากศิลปินไทยคนสำคัญ สุภร พรินทรากุล นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยไม้สัก “เรือนนางพิม” ซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทยที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดยเหม เวชกร และสุขี สมเงิน
ชั้น 4 ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ก็ได้จัดแสดง ผลงานที่ถือเป็นสุดยอดแห่งมหากาพย์ของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ประกอบด้วยผลงานทุกประเภทของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม ปราชญ์ผู้เป็นตำนานแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งสุดยอดแห่งผลงานวาดเส้นและผลงานที่แสดงออกถึงพลังการเคลื่อนไหวของอารมณ์ด้วยฝีแปรง
เดินต่อมาทางอีกฟากหนึ่งของอาคาร เดินทะลุสะพานข้ามจักรวาลมา ก็จะได้พบกับผลงานจิตรกรรมขนาดความสูง 7 เมตร จำนวน 3 ภาพในชุด “ไตรภูมิ” บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิด ของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา
เมื่อเดินขึ้นมาถึงที่ชั้น 5 ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็จะได้พบกับงานศิลปะร่วมสมัยจากหลายประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์ และห้องที่โดดเด่นที่สุดก็คือห้อง Richard Green ซึ่งจำลองห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปที่มีหลังคากระจกโค้งรับแสงธรรมชาติ โดยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปฝีมืออันดับต้นๆ ในยุคพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ของไทย ซึ่งผลงานทุกชิ้นถูกดูแลรักษาเก็บเอาไว้อย่างถะนุถนอมเป็นอย่างดี ผลงานบางชิ้นมีอายุตั้งเกือบ 300 ปี เก่าแก่และทรงคุณค่าทางด้านศิลปะที่มิอาจประเมินค่าได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม
เปิดบริการ วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) 10.00-18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/JU9BpESRmL2XhCkN7
ค่าเข้าชม ราคา 280 บาท