ตัวตึง 'ชัยวุฒิ' งง!! วัยรุ่นปลื้มดีเบต ขอฟังความคิด ก่อนตัดสินใจเลือกตั้ง

(6 พ.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มตัวแทนเยาวชน ณ อาคาร 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองทางการเมือง และเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลในมุมมองของเยาวชน ผ่านตัวแทนเยาวชนจากหลากหลายสังกัด ทั้งนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, เยาวชนผู้ก่อตั้ง Ku blockchain, กลุ่มเยาวชน Core Team มหิดล StartUp, กลุ่ม Digital Youth Network, กลุ่ม Young Business Guide และ สภาเด็กพัฒนาเยาวชนกรุงเทพฯ

นายชัยวุฒิ กล่าวถึงความรู้สึกว่า ดีใจที่เห็นเยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจที่จะเปิดใจ รับฟังความคิดเห็นทางการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ดีเราก็ได้มาพูดคุยกัน อย่างน้อยก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องสถาบันเดียวกันได้ มาฟังความคิดเห็นรุ่นน้องด้วยก็ยินดี ส่วนจะรักใครเลือกใครก็เป็นสิทธิ์ของเราอยู่แล้ว เห็นต่างกันได้ คุยกันได้ ทำงานร่วมกันได้ครับ 

ด้านตัวแทนนักศึกษาวิศวะฯ จุฬา กล่าวว่าจริง ๆ มันก็สำคัญที่จะฟังที่ Base ของประชาธิปไตย มันไม่ใช่เรื่องของการโหวตอย่างเดียว มันคือเรื่องของการฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เราก็พูดกันตรง ๆ ว่าอาจจะไม่ใช่ target เลย พวกเราก็มีในใจ มันก็สำคัญมาก ๆ ที่เราจะต้องฟังจากทุกเสียง เพราะว่ามันก็ไม่มีไอเดียที่ไม่ดี เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ เพราะว่าเราต้องฟังจากหลาย ๆ มุมมอง เพราะเราจะได้มองจากหลายมุมมอง ได้มีส่วนในการคิด ได้มีส่วนในการ Develop 

"มาดูกันครับ พ่อเลือกพลังประชารัฐ พ่อลังเลอยู่ ระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ พ่อผมก็น่าจะพลังประชารัฐเหมือนกัน" ตัวแทนนักศึกษาวิศวะฯ จุฬา กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า น้อง ๆ มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากครับ เพราะเรื่องดิจิทัลถือเป็นเรื่องใหม่ ที่เราสามารถทำและแข่งกับชาติอื่น ๆ ทั้งในเชิงการประกอบธุรกิจ StartUp ซึ่งเยาวชนไทยเราไม่แพ้ใครอยู่แล้ว โดยใช้เงินทุนไม่มาก แต่อาจสร้างกำไรได้มหาศาล เรื่องนี้คิดว่าถ้าเราให้ความรู้และสร้างเครือข่ายหาเงินทุนให้เยาวชนได้ ถือเป็นแนวทางที่ดี ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เริ่มต้นปรึกษากันว่ามีแนวโน้มที่จะจัดตั้งกองทุนโดยผ่านระบบมหาวิทยาลัย ส่วนตัวมองว่าทางรัฐบาลต้องลงมาช่วยเติมทุนคนละครึ่ง หรือนำบริษัทเอกชนมาช่วยสนับสนุน 

นายชัยวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ทางพรรคพลังประชารัฐมีแนวทางที่อยากจะพัฒนา ที่ผ่านมาในฐานะที่ดูแลกระทรวงดิจิทัลก็ได้สนับสนุนเข้ามาช่วยเยาวชนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ อาจจะเป็นการนำเงินทุนเข้ามาช่วย แต่จะต้องมีการแก้กฎหมายก่อน เพื่อจะได้สนับสนุนได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ตัวแทนเยาวชนรายหนึ่ง ได้ตั้งคำถามถึงแนวทางการป้องกันปัญหาจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอก

โดยนายชัยวุฒิ ตอบว่า วันนี้ยอมรับและก็เสียใจ ในเรื่องของระบบดิจิทัลบางส่วน ที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมแก้ไขอะไรได้ไม่มาก เพราะรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือสอดส่องได้ว่าประชาชนคุยอะไรกัน หรือมีการแลกเปลี่ยนค้าขายอะไรกันบ้างผ่านทางออนไลน์ จึงมีคนนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย แต่ก็จะรีบปรับและแก้ไขปัญหาตรงนี้ โดยการสร้างระบบให้สามารถบล็อกบัญชีโอนเงินให้ได้เร็วขึ้น เช่น บัญชีม้าต่าง ๆ ให้หมดไป เพื่อความสบายใจของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ 

สุดท้ายได้ฝากถึงเยาวชน จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละวันจะมีเรื่องใหม่เข้ามาตลอด ทั้งเรื่อง AI เรื่อง blockchain ที่ถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพราะมีหลายคนยังตามไม่ทัน คนไทยบางคนยังเข้าไม่ถึงในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราควรสร้างเครือข่ายให้คนเข้ามาร่วมเยอะ ๆ เพราะเด็กไทยเก่ง ๆ มีเยอะมาก แต่ขาดเงินทุนสนับสนุน โดยที่ผ่านมา มีการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ยังน้อยไป และควรสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้เอื้อกับการทำธุรกิจ ลดกฎระเบียบให้น้อยลงและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และการลดภาษี เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาหมุนเวียน นำไปต่อยอดและพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับบรรยากาศการพูดคุยกันเป็นไปอย่างสนุกสนานน้อง ๆ กลุ่มนี้ได้ติดต่อมาที่ทีมงาน ของคุณชัยวุฒิ เพื่อนัดเจอที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้น พอนายชัยวุฒิไปถึง น้อง ๆ ก็ชวนพูดคุย เเละให้ลองขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้า หลังจากนั้นก็พาไปพบกับน้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มาจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งนายชัยวุฒิ ก็แปลกใจเพราะไม่คิดว่า จะมีน้อง ๆ มารอฟังเเละพูดคุยด้วยเยอะขนาดนี้ หลังการพูดคุยเเลกเปลี่ยนความคิดเห็น น้อง ๆ ก็ได้มอบภาพวาดเป็นกำลังใจให้กับนายชัยวุฒิ ด้วย