เจาะประวัติ St Edward’s Chair บัลลังก์ประวัติศาสตร์ อายุ 700 ปี พระราชอาสน์ที่สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงประทับ

#บัลลังก์ประวัติศาสตร์ อายุ 700 ปี #บัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด St Edward’s Chair หรือ บัลลังก์ราชาภิเษก The Coronation Chair เป็นพระราชอาสน์ที่สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงประทับ ขั้นตอนของการสวมพระมหามงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่ ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 นี้

พระราชอาสน์เซนต์เอ็ดเวิร์ดนั้น เชื่อกันว่าเป็นเครื่องเรือนอายุเก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักรที่ยังถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมอยู่ โดยมีกษัตริย์อังกฤษถึง 26 พระองค์ ที่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกบนบัลลังก์นี้

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 โปรดให้สร้างพระราชอาสน์เซนต์เอ็ดเวิร์ดขึ้นในช่วงยุคกลาง เพื่อใช้บรรจุ 'ศิลาแห่งชะตาลิขิต' Stone of Destiny หรือ หินแห่งสโคน (Stone of Scone) ซึ่งเป็นพระแท่นศิลาราชาภิเษกของกษัตริย์สกอตแลนด์ที่ทรงนำมาจากนครหลวงเก่าของชาวสกอต หลังทรงชนะศึกพิชิตดินแดนทางเหนือได้สำเร็จ รัฐบาลอังกฤษได้ส่งคืนศิลาแห่งชะตาลิขิตให้กับทางการสกอตแลนด์ไปเมื่อปี 1996 แต่มันจะถูกนำกลับมายังกรุงลอนดอนเป็นการชั่วคราว เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้

พระราชบัลลังก์ได้รับชื่อภายหลังตามพระนามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ Edward the Confessor ผู้เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญ ตัวบัลลังก์เก็บไว้ที่ชาเปลเซนต์เอ็ดเวิร์ดในแอบบีเวสต์มินสเตอร์ พระมหากษัตริย์อังกฤษและพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรทุกพระองค์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1308 ต่างก็ประทับบนบัลลังก์นี้เมื่อได้รับการสวมมงกุฎอย่างเป็นทางการ ยกเว้นพระราชินีนาถแมรีที่ 1 ผู้ทรงเลือกประทับบนบังลังก์ที่ได้รับการประทานจากพระสันตะปาปา และพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ผู้ประทับบนบังลังก์ที่สร้างเลียนแบบบัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด วาระสุดท้ายที่บัลลังก์นี้ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์คือในพระราชวโรกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี ค.ศ. 1953

บัลลังก์เป็นเก้าอี้หลังตรงแบบกอธิคทำจากไม้โอ้คโดยช่างไม้ชื่อมาสเตอร์วอลเตอร์ผู้ได้รับค่าจ้างเป็นจำนวน 100 ชิลลิง ตัวบัลลังก์ตั้งอยู่บนสิงห์ปิดทองสี่ตัวซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับการซ่อมแซมในปี ค.ศ. 1727 แทนสิงห์ที่มาเพิ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ภายใต้ที่นั่งเป็นช่องสำหรับวางหินแห่งสโคนจนกระทั่งปี ค.ศ. 1996 เมื่อถูกส่งคืนไปยังสกอตแลนด์โดยมีข้อแม้ว่าต้องถูกส่งกลับในโอกาสที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งต่อไป 

บัลลังก์ครั้งหนึ่งอาจจะทาสีสดใสและปิดทองและเชื่อกันว่ามีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพอยู่บนด้านหลังของบัลลังก์ แต่ในปัจจุบันเป็นแต่เพียงไม้เปล่า ๆ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ที่ผ่านมาก็มีนักท่องเที่ยว, นักแสวงบุญ และนักร้องเพลงสวดในแอบบีช่วยกันสลักกราฟฟิตีบนบัลลังก์ และบางส่วนของลวดลายแกะสลักด้านหลังบัลลังก์ก็ถูกเฉือนออกไป

ในระหว่างแปดร้อยปีที่ผ่านมาบัลลังก์ถูกนำออกจากแอบบีเวสต์มินสเตอร์เพียงสองครั้ง ครั้งแรกในการนำไปทำพิธีในท้องพระโรงของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในโอกาสที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้พิทักษ์แห่งอังกฤษ และครั้งที่สองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อถูกย้ายหนีภัยจากสงครามไปไว้ที่มหาวิหารกลอสเตอร์

บัลลังก์ราชาภิเษกที่ทำจากไม้โอ๊กจะถูกนำไปวางไว้ตรงศูนย์กลางของมหาวิหาร บริเวณหน้าแท่นบูชาสูงเหนือพื้นฝังหินประดับแบบคอสมาติ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะโบราณอันเลื่องชื่อ สื่อแสดงถึงความสำคัญยิ่งยวดทางศาสนาของพิธีกรรมนี้

สำหรับงานพระราชพิธีนี้ จะจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลกต่างก็รอชมพระราชพิธีนี้ เพราะถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญแห่งประวัติศาสตร์

โดย ทรูวิชั่นส์ พร้อมถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญนี้ให้ทุกคนได้ชมกัน ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30 น. ทางทรูวิชั่นส์ ช่อง BBC NEWS (785) และในเวลา 20.30 น. พบกับรายการ Born To Be King รายการที่สามารถติดตามเรื่องราวของพระองค์ ที่ถ่ายทอดผ่านบุคคลสำคัญ และคนใกล้ชิด กับความสำเร็จในฐานะเจ้าชายแห่งเวลส์ ทางช่อง BBC Lifestyle (353)


ที่มา: Tawatchai Kitiyapichatkul

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02AZViaE8gUP1NLo6FMQhXH6wMWKoHrhFtr3Pxiy2BKyoNY4Rkr8eQyLPb9opX1P44l&id=632398101&mibextid=Nif5oz