สรุปผลแถลงการณ์ 13 เรื่อง จาก FED ยัน!! 'แบงก์-เศรษฐกิจสหรัฐฯ' ยังแข็งแกร่ง

(4 พ.ค. 66) จบไปแล้วสำหรับแถลงการณ์ของ Jerome Powell ประธาน FED ในค่ำคืนนี้ ! โดย FED ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย +0.25% และเรื่องที่ Powell เน้นย้ำ ซึ่ง World Maker ได้สรุปสาระสำคัญไว้ 13 เรื่อง ดังนี้...

1. ปัจจัยต่าง ๆ มีการปรับตัวดีขึ้น (รวมถึงในด้านของเงินเฟ้อ) แต่ FED จะติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดต่อไป และขณะเดียวกันจะดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมพอเหมาะ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้ระบบธนาคารไปด้วย

2. FED ย้ำว่าตลาดแรงงานและอัตราว่างงานยังคงต่ำมาก (ต่ำสุดในรอบราว 50 ปี) และเงินเฟ้อโดยรวมยังสูงกว่าเป้าหมาย 2% อยู่มาก แม้ว่าจะเริ่มชะลอตัวลงแล้วก็ตาม ดังนั้นแรงกดดันยังคงมีอยู่ในการควบคุมเงินเฟ้อ และยังมีหนทางอีกยาวไกลสำหรับการน้ำเงินเฟ้อกลับสู่ 2% นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ 'เติบโตเล็กน้อย-ปานกลาง' แต่ไม่ใช่ Recession รุนแรง

3. FED ยังมีจุดยืนที่แข็งแกร่งสำหรับการนำเงินเฟ้อกลับสู้ 2% ให้ได้ ดังนั้นอาจมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในบาง Sectors ต่อไป เช่น อสังหาฯ ขณะที่วิกฤต Bank Run ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้มงวดในแง่ของสินเชื่อมากขึ้น

4. การตัดสินใจนโยบายในอนาคตจะยังขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยมีเป้าหลักคือนำเงินเฟ้อกลับสู่ 2% และ FED พร้อมที่จะดำเนินนโยบายเข้มงวดเพิ่มเติมหากจำเป็น

5. มีการถามเรื่องของเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่ง FED กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นหลัก (ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ FED) แต่โดยภาพรวมแล้ว Powell มองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ในจุดที่ยังควบคุมได้ และเราไม่ได้อยู่ในจุดที่จะพูดถึงเรื่องของการผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯ (ดูเหมือน Powell ค่อนข้างมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมผิดชำระหนี้)

6. วิกฤต Bank Run ที่เกิดขึ้นเช่น SVB, Signature, First Republic ถูกมองว่าไม่ใช่ภัยคุกคามระดับหายนะเหมือนที่หลายคนคาดเอาไว้ ยังไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินรุนแรงที่จะต้องกังวลมากเกินไป (แต่ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงที่จะละเลยได้โดยไม่คำนึงถึง) แต่โดยภาพรวมแล้วสถานะของธนาคารต่าง ๆ ดีขึ้นมากจากแรง Panic ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤต ยังมีความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในองค์รวมใหญ่ ๆ

7. Powell กล่าวว่าการมีธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง (SME) ยังเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอาจหมายความว่าแม้จะมีธนาคารที่มีปัญหาจนต้องควบรวมกับธนาคารใหญ่ ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า SME จะล้มไปทั้งหมด และในแง่ดีคืออนาคตจะมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อกฏหมายควบคุมดูแลถูกยกระดับ

8. เรื่องของ Credit Tightening (การกระชับความเข้มงวดด้านสินเชื่อ) เป็น Keywords ที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ในการประชุมครั้งนี้ ดังนั้นจึงพอจะเห็นภาพได้ว่าสหรัฐฯ กำลังจะตอบสนองอย่างไรต่อวิกฤต Bank Run เพื่อยกระดับความมั่นคงทางการเงิน

9. สิ่งที่ Powell ยังคงย้ำชัดเจนอยู่หลายครั้งในแถลงการณ์ครั้งนี้คือ FED จะดำเนินนโยบายต่อไปเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับสู่ 2% ในระยะยาว และพร้อมจะดำเนินการเพิ่มเติมหากจำเป็น

10. การทำ QT เพื่อดูดสภาพคล่องออกจากระบบจะยังดำเนินต่อไปด้วยอัตราประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนสำหรับพันธบัตรรัฐบาลและ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนสำหรับพันธบัตรจำนองบ้าน (MBS) โดยย้ำถึงเงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าเป้าหมาย 2% อย่างมาก และต้องการเห็นอัตราว่างงาน 'สูงขึ้น' เพื่อลดความร้อนแรงของตลาด (มีการกล่าวว่า Demand ยังคงสูงมาก)

11. เรื่องของการลดดอกเบี้ยในปีนี้ยังไม่ถูกยืนยันแต่อย่างใด โดย FED กล่าวว่าแนวโน้มของเงินเฟ้อจะลดลงอย่างช้า ๆ จึงต้องมีนโยบายที่เข้มงวดต่อไปในตอนนี้ แม้ว่าตลาดจะมีการ Price In ไปแล้วก็ตามว่า FED จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี แต่ในแง่ของความเป็นจริงจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจแบบ Real Time ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ ชะลอความร้อนแรงลงจน FED สามารถผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้หรือไม่ ?

12. ธนาคารขนาดเล็ก-กลางมีแนวโน้มจะต้องถูกยกระดับด้านสินเชื่อและการบริหารงบประมาณ และ FED (รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ) ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งโลก

13. คณะกรรมการ FED บางคนพูดถึงการหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว แต่ยังไม่ใช่จำนวนที่มากนัก ดังนั้นการตัดสินใจใด ๆ ต่อไปจะอยู่ที่ข้อมูลเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างที่ย้ำไปแล้ว และ “เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งทั้งการกำกับดูแลและกฎระเบียบสำหรับธนาคารขนาดเล็ก-กลาง ซึ่ง Powell มองว่าเรากำลังอยู่ในแนวทางที่จะทำเช่นนั้น” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินงานเรื่อง Bank Run ในครั้งนี้มีความรวดเร็วกว่าที่เห็นในประวัติศาสตร์มาก (ตามหลักเศรษฐศาสตร์เคนส์ คือ รีบเข้ามา Take Action ไม่ปล่อยให้วิกฤตบานปลาย)

📌 สินทรัพย์ต่าง ๆ มีการปรับตัวเล็กน้อย ผันผวนน้อยกว่าหลายครั้งที่ผ่านมาในช่วงการประกาศดอกเบี้ยและแถลงการณ์ของ FED ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกร่วง -4.5% คืนนี้หลุดระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล, Bitcoin ยืนราว 28,000 ดอลลาร์และทองคำยืนราว 2,025 $/Oz ส่วนเงินดอลลาร์เทรดอยู่ที่ 101.375 หน่วยและดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ คือ S&P500, NASDAQ100 และ Dow Jones ติดลบ


ที่มา: World Maker

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02mEpNpHonaTC28zSm19mMSCwACkWbSFPHVdJixoJMV93D7YQJWY1QXpYuSHXhFkfdl&id=100057372132574&mibextid=Nif5oz