‘ทช.’ ทุ่มกว่า 25 ล้านบาท ซ่อมสะพานท่าเทียบเรือเกาะกูด หนุนการขนส่ง-การท่องเที่ยว หวังกระจายรายได้สู่ชุมชน

‘ทางหลวงชนบท’ ทุ่ม 25 ล้าน ซ่อมสะพานท่าเทียบเรือ เกาะกูด จ.ตราด เสร็จสมบูรณ์ โชว์ใช้โครงสร้างป้องน้ำเค็ม-สู้สนิมหวังยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน หนุนส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่ง การท่องเที่ยวบนเกาะกูด

1 พ.ค.2566 รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือ (ตร.001) อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เสร็จสมบูรณ์แล้ว ใช้งบประมาณ 25.697 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน โดยสะพานท่าเทียบเรือ (ตร.001) เป็นจุดจอดสำหรับเรือลำเลียงสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ขนส่งวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในเกาะกูด และเป็นจุดที่เรือชาวประมงจอดเทียบใช้ในการหลบพายุในช่วงมรสุม ตลอดจนเป็นจุดจอดเรือรบของกองทัพเรือ

ทั้งนี้ตั้งอยู่บริเวณบ้านอ่าวใหญ่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ต่อเชื่อมกับจุดสิ้นสุดบนถนนทางหลวงชนบทสาย ตร.6042 บ้านอ่าวสลัด-บ้านอ่าวใหญ่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งโครงสร้างมีการสัมผัสน้ำทะเลตลอดเวลา ทำให้โครงสร้างพื้นเสาและคานของสะพานท่าเทียบเรือได้รับความเสียหาย เกิดสนิมบริเวณเหล็กเสริม ส่งผลให้เกิดการกะเทาะหลุดล่อนของคอนกรีตตลอดชิ้นส่วนของโครงสร้างสะพาน

เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับสะพาน ปรับปรุงให้สะพานกลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่ง การท่องเที่ยวบนเกาะกูด ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทช.จึงได้ดำเนินการซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือฯ โดยคำนึงถึงความแข็งแรงและความคงทนของโครงสร้างต่อสภาวะน้ำเค็ม เน้นวิธีการซ่อมบำรุงที่รวดเร็วอย่างมีคุณภาพ ลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ซึ่งตัวสะพานจะมีลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้างช่วงยาวช่วงละ 5 เมตร ความกว้างช่วงสั้น 2.5 เมตร รวมความยาวสะพาน 100 เมตร
 


อย่างไรก็ตามโดย ทช.ได้ทำการซ่อมแซมด้วยการทดแทนโครงสร้างเดิมด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างโครงสร้างหล่อในที่ ช่วยลดความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมบริเวณสถานที่ก่อสร้าง เช่น พายุฝน สภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง เป็นการช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ประกอบกับคอนกรีตที่ใช้ในการหล่อโครงสร้างเป็นคอนกรีตชนิดป้องกันน้ำเค็ม ป้องกันการเกิดสนิม และผิวคอนกรีตโครงสร้างจะเคลือบด้วยน้ำยาป้องกันการซึมผ่านของน้ำทะเล ทำให้ผิวคอนกรีตมีสภาพทึบน้ำ ส่งผลให้น้ำทะเลซึมผ่านเข้าสู่เนื้อคอนกรีตและเหล็กเสริมได้ยาก

อย่างไรก็ตามซึ่งนอกจากตัวโครงสร้างสะพานแล้ว ยังมีการก่อสร้างส่วนประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ การทิ้งหินกันการกัดเซาะแนวตลิ่ง การก่อสร้างบันไดเทียบ สำหรับเรือเล็ก 2 แห่ง การติดตั้งยางกันกระแทก พร้อมหลักผูกเรือ การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และปรับปรุงถนนเชิงลาด/ถนนต่อเชื่อมสะพาน

นอกจากนี้ บริเวณสะพานดังกล่าวยังได้ติดตั้งป้ายคำว่า “KOH – KOOD สุดเขตแดนตะวันออกบ้านอ่าวใหญ่” ไว้สำหรับให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มาถ่ายภาพเช็กอิน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวบริเวณเกาะกูดอย่างยั่งยืนอีกด้วย


ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/369781/