นักโบราณคดีจีน’ พบ ‘6 หลุมศพ’ จากสมัยราชวงศ์ถัง ซุกกลางกำแพงเมืองโบราณ เชื่อมลำดับเวลาระหว่างสองยุค

(29 มี.ค. 66) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, เจิ้งโจว รายงานว่า คณะนักโบราณคดีในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีนได้ค้นพบหลุมศพจากยุคราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) จำนวน 6 หลุม ซึ่งตั้งอยู่ ณ ความลึกแตกต่างกันระหว่างกำแพงเมืองโบราณที่ฝังอยู่ใต้ดิน โดยการค้นพบนี้เกื้อหนุนการศึกษาซากโบราณหลากวัฒนธรรมในแอ่งแม่น้ำเหลืองของจีน

‘เย่ว์หงปิน’ นักวิจัยประจำสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน และผู้อำนวยการสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีซางชิว ระบุว่า หลุมศพทั้ง 6 หลุม ตั้งอยู่บริเวณซากซ่งกั๋วกู่เฉิง หรือซากเมืองหลวงโบราณของแคว้นซ่งในยุคชุนชิวหรือยุควสันตสารท (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

หลุมศพเหล่านี้ตั้งอยู่ ณ จุดตัดของกำแพงทิศใต้ของเมืองหลวงโบราณแห่งแคว้นซ่ง และกำแพงทิศตะวันตกของเมืองโบราณซุยหยางแห่งราชวงศ์ถัง โดยกำแพงทิศตะวันตกของเมืองโบราณซุยหยางแห่งราชวงศ์ถังนั้น ซ้อนทับอยู่บนกำแพงทิศใต้ของเมืองหลวงโบราณแห่งแคว้นซ่ง

คณะนักโบราณคดีขุดพบเหรียญทองแดง กระจกทองแดง ไหดินเผา และแผ่นจารึกบนหลุมศพที่ระบุวันเวลาอย่างแม่นยำ ซึ่งถือเป็นการค้นพบอันมีนัยสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นหลักฐานแสดงลำดับเวลาของการเลิกใช้และก่อสร้างสองกำแพงเมืองที่มาจากต่างยุคสมัย

สถาบันฯ ระบุว่า มีการค้นพบกลุ่มซากเมืองโบราณจากยุคชุนชิวจนถึงยุคราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) บริเวณซากซ่งกั๋วกู่เฉิง โดยลำดับชั้นทางวัฒนธรรมจากต่างยุคสมัยนี้ เกิดขึ้นจากการทับถมของดินตะกอนและการยกตัวของฐานราก อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของแม่น้ำเหลืองในอดีตกาล


ที่มา : https://www.xinhuathai.com/china/348054_20230329