‘อ.เจษฎา’ โพสต์ติง เชียงราย ‘ฉีดน้ำขึ้นฟ้า’ หวังฝนตกลด PM2.5 แนะทางออกที่ต้องรีบทำ หยุด!! การเผาไหม้ในเชียงราย-พื้นที่ข้างเคียง

(27 มี.ค. 66) จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงถึง 480 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก นครเมืองเชียงราย เผยภาพ ฉีดน้ำขึ้นฟ้า โดยระบุว่า 

“ชาวเชียงรายร่วมมือร่วมใจ คนเชียงรายสร้างฝน ร่วมกันวันละ 2 เวลา 9.00 น. และ 14.00 น. เอาน้ำรดต้นไม้และถนนหน้าบ้านของท่าน จากการจังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. ทุกพื้นที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำมาโดยตลอด ตอนนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนจะร่วมมือร่วมใจกันจะได้ไม่ครับ เรามาช่วยสร้างบรรยากาศให้ชุ่มชื้น ทำให้ฝนตกกันดีกว่าครับ”

ล่าสุด นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรืออาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 

“หลงทางกันใหญ่แล้วครับท่าน ! การรดน้ำต้นไม้และถนนหน้าบ้าน อาจจะทำให้พื้นที่ดินตรงนั้นชุ่มชื้นขึ้นบ้าง แต่มันก็ไม่ได้จะทำให้เกิดฝนตก

และการฉีดน้ำพ่นขึ้นฟ้า ก็ไม่ได้จะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ลงด้วย เหมือนเอาน้ำขวด ไปเทลงคลองแสนแสบ ก็ไม่ได้ทำให้คลองมันสะอาดขึ้น  (แถมฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กจิ๋วมาก หยดน้ำมีผลในการจับฝุ่นได้ค่อนข้างน้อย แต่กระแสลมมีผลกระทบมากที่สุดในการพัดพาฝุ่นครับ) 

ทางออกที่ต้องรีบทำ คือต้องหยุดการเผาไหม้ทุกจุดในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดข้างเคียง ให้ได้ต่างหากครับ ตอนนี้ใครๆ ก็ดูออกว่า ฝุ่นจากควันของการเผาไหม้ มันเต็มเมืองเต็มจังหวัดไปหมดแล้วต่างหาก

ป.ล. จู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่า ถ้าสมเด็จย่าท่านทรงยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ท่านจะทรงรู้สึกเช่นไร ที่อากาศเชียงรายกลายเป็นแบบนี้ไปแล้ว

เวลาจัดกิจกรรม ‘พ่นน้ำขึ้นฟ้า’ มันมักจะดูอลังการ ดูหลอกตา ว่าน้ำที่พ่นออกมามันเหมือนจะลดฝุ่นได้

แต่เราไม่เห็นภาพว่าในพื้นที่ ‘อากาศเปิด’ นั้น ปริมาณอากาศจริงๆ มันมหาศาลมากครับ ..... ถ้าเราขึ้นไปดูจากบนฟ้า จะเห็นได้ชัดว่า (น้ำที่พ่นออกมา) มันเล็กจิ๋วขี้ปะติ๋วมากครับ เมื่อเทียบกับผืนฟ้า

แล้วที่บางจังหวัด ไปลงทุนสร้างเครื่องฟอกอากาศ ‘ยักษ์’ มาตั้งไว้ริมถนน อันนั้นก็ไม่เวิร์คเหมือนกันครับ จากยักษ์มันจะกลายเป็น ‘จิ๋ว’ ทันทีเมื่อคิดจากปริมาณอากาศทั้งหมด ... ถ้าเอาไปไว้ในโรงยิม ในอาคาร ที่เป็น ‘อากาศปิด’ ถึงจะใช้ได้ครับ

เปรียบเทียบเหมือน ‘เอาเครื่องกรองน้ำ เอาน้ำขวด ไปเทลงคลองแสนแสบ เพื่อหวังว่าจะสะอาดขึ้น’ แหละครับ”


ที่มา : https://www.naewna.com/likesara/720134