World's Biggest Liar เทศกาล 'แข่งโกหกคำโต' ให้สาธารณชนเชื่อ ข้อแม้!! ห้าม 'นักการเมือง' และ 'ทนายความ' ลงแข่ง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีงานแบบนี้บนโลก

งาน 'World's Biggest Liar' คือเทศกาลประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคัมเบรีย (Cumbria) ประเทศอังกฤษ โดยรับสมัครผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก ซึ่งกำหนดให้ทุกคนมีเวลา 5 นาทีสำหรับการ 'แต่งเรื่องโกหกและน่าเชื่อถือที่สุด' ออกมา โดยมีกฏเพียงห้ามใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก หรือสคริปต์ใดๆ อาศัยเพียงการเตรียมตัวและด้นสดตามสถานการณ์ตรงหน้า

ที่ผ่านมาพวกเขามีเรื่องอะไรซึ่งเป็นเรื่อง 'โกหกที่สุดในโลก' กันบ้าง

ในปี ค.ศ. 2003 'แอบรีย์ ครูเกอร์' (Abrie Krueger) จากดินแดนแอฟริกาใต้ ได้รับเลือกให้เป็น 'นักโกหกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก' หลังเขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาเองได้รับตำแหน่งราชาแห่งหุบเขาวาสเดล (Wasdale) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชาวต่างชาติ (นอกเกาะอังกฤษ) ชนะการแข่งขัน ท่ามกลางคำกล่าวหาว่าครูเกอร์นั้น 'โกง' ด้วยเนื้อหาคล้ายกับเรื่อง 'บิชอปแห่งคาร์ไลล์' ในอดีต

นักแสดงตลกสาวใหญ่ 'ซู เพอร์กินส์' ชนะการแข่งขันโกหกในปี 2006 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สตรีชนะการแข่งขัน โดยเรื่องเล่าของเธอคือ "ชั้นโอโซนเสียหาย น้ำแข็งละลาย และผู้คนต้องถูกพาไปทำงานกับอูฐ"

หลายเรื่องหลายพล็อตที่ถูกนำมาเล่าแข่งขันกันส่วนใหญ่จะมีความเสียดสี เล่าอย่างหน้าตาย บ้างก็ใส่อารมณ์ของแสตนด์อัพคอมมิดี้ ตามสไตล์ผู้ดีอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่มองทุกอย่างรอบตัวเป็นเรื่องขำขัน ไม่เว้นแม้แต่มุมมองทางการเมือง การปกครอง

ครั้งหนึ่งมีผู้เข้าประชันการโกหกที่ควรเป็นผู้ชนะการแข่งขันด้วยสุนทรพจน์สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา ครั้งนั้นเขาขึ้นพูดง่าย ๆ ว่า "ฉันไม่เคยโกหกมาก่อนเลยในชีวิตนี้" (ฮา)

ปี ค.ศ. 2008 จอห์น 'ไลเออร์' เกรแฮม ผู้ซึ่งมากประสบการณ์บนเวทีนี้จนได้รับฉายา 'จอห์นตอแหล' ชนะการแข่งขันเป็นครั้งที่ 7 หลังเล่าเรื่องการนั่งรถมหัศจรรย์ไปยังสกอตแลนด์ด้วยถังขยะที่ล่องไปภายใต้ท้องทะเล และเรื่องโกหกที่ชนะของจอห์น เกรแฮม ที่ว่า อ้างอิงมาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่เรือดำน้ำเยอรมันนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บุกอังกฤษเพื่อจับตัวถอดรหัสโทรเลข

ยังมีเรื่องโม้ของ Paul Burrows จากเมือง Essex ในปี 2010 ว่าทะเลสาบและภูเขาปัจจุบันในชนบทของ Cumbrian นั้น ก่อนหน้านี้ถูกขโมยไปจากเทศมณฑล Essex บ้านเขาเอง จนทุกวันนี้เมืองเอสเส็กซ์มีสภาพเป็นพื้นที่ราบเรียบสุดลูกหูลูกตา

มีเรื่องราวมากมายที่เล่าออกมากี่ครั้ง ๆ ก็รู้ว่าคือคำ 'โกหก' แต่ผู้ชม กรรมการผู้ตัดสิน รวมถึงกองเชียร์ก็ยังติดตามกันอย่างเหนียวแน่นและดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกปี เพียงเพราะพวกเขาเชื่อว่านั่นคือสันทนาการ คือการพบปะเพื่อเอาเรื่องตลกไร้สาระ (แต่หลายครั้งมีสาระมากกว่านักวิชาการพูดเสียอีก) จบท้ายที่การมอบรางวัลและเฉลิมฉลองด้วยการดื่มกิน

นายเกล็น บอยแลน (2011) เล่าว่าเขาเคยเดิมพันแข่งหอยทากกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) โดยพระองค์ยังทรงแนะนำให้เกล็นถอดเปลือก (หอยทาก) ออก ตามหลักอากาศพลศาสตร์เพื่อให้หอยคลานเร็วขึ้น แต่ในท้านที่สุดหอยทากของเกล็นก็แพ้หอยของพระเจ้าชาร์ลส เพราะพระองค์ใช้หอยทากที่เดินเครื่องด้วยแบตเตอรี่ - นี่เป็นอีกตัวอย่างของเรื่องตอหลดตอแหลอย่างคนอังกฤษนิยม

งาน 'World's Biggest Liar' จะจัดขึ้นทุกเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ โรงแรมบริดจ์ (Bridge Inn) เพื่อรำลึกถึง 'วิลล์ ริตสัน' (Will Ritson 1808 - 1890) เจ้าของผับจาก Wasdale ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีใน 'เรื่องเล่า' ของเขา โดยเรื่องโกหกอันโด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งของริตสันก็คือ หัวผักกาดในย่านเลค ดิสทริค มีขนาดใหญ่โดมาก จนผู้คนแกะแต่ละใบออกมาเพื่อทำโรงเลี้ยงวัวได้สบาย ๆ

แว่ว ๆ ว่า หนึ่งในประเทศแถบอุษาคเนย์กำลังจัดแข่ง 'โกหกที่สุดในโลก' อยู่เหมือนกัน โดยปรับกติกาให้ผู้เข้าแข่งสะดวกขึ้น อาทิ ไม่มีการกำหนดเวลาเล่า (รวมถึงพูด - เขียน) โดยสามารถ 'ฝอย' และ 'โม้' ได้ตลอดเวลานับแต่ลืมตาตื่นจนหลับ สามารถปั้นเรื่องโกหกที่สุดโดยบอกกับคนฟังว่านั้นคือ 'ความจริง' แถมระยะเวลางานตอแหลครั้งนี้ยังจัดยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม หรือเผลอ ๆ อาจลากไปถึงปลายปีโน่น

อ้อ!! ลืมบอกไปว่าต้นฉบับ 'World's Biggest Liar' เขามีกฏเหล็กห้าม 'นักการเมือง' และ 'ทนายความ' ลงแข่งอย่างเด็ดขาดทุกกรณี เนื่องจากเขาเหล่านั้นต่างมีทักษะเล่าเรื่องโกหกคำโตฉกาจฉกรรจ์มากเกินไป!

เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์