สภาพ ‘สยาม’ ภายใต้การนำของ ‘จอมพล ป.’ คนรวยอยู่เหนือกฎหมาย คนจนกลายเป็นโจร

ใครที่ได้ดู ‘ขุนพันธ์’ ภาคแรก จะเห็นว่า ‘หลวงโอฬาร’ คนไทยใจทาส ผู้ยอมทรยศชาติอำนวยทางให้ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกอย่างสะดวกโยธิน แต่พอมาภาคสอง เราก็ได้รู้จัก ‘ไทยถีบ’ ผ่านตัวละคร ‘เสือใบ’ ผู้กล้าปล้นญี่ปุ่น ขณะที่นักการเมืองและข้าราชการไทยยอมอำนวยความสะดวกด้วยเม็ดเงินที่ได้รับ และเมื่อมาถึงภาคสาม ก็ได้สะท้อนของยุคการเมืองที่รุนแรงและสังคมอันเหลื่อมล้ำ สมัยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา คนรวยอยู่เหนือกฎหมาย คนจนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร และข้าราชการทหารภายใต้ผู้นำเผด็จการพร้อมพิพากษาทุกคน 

ขอออกตัวก่อนว่าวันนี้ผมไม่ได้มาชวนท่านผู้อ่านไปชมภาพยนตร์เรื่อง ‘ขุนพันธ์’ นะครับ แต่ผมอยากมาชวนให้นึกถึงยุคสมัยนั้น ยุคที่เราต้องอาศัย ‘ศรัทธา’ มาก ๆ ถึงจะอยู่ได้อย่างปกติสุข 

หากจะเท้าความ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็ต้องนับเนื่องมาจากหลังการแก่งแย่งชิงดีของคณะราษฎร 2475 จนสะเด็ดน้ำ ได้ผู้นำในแบบ Supreme Leader ไม่เกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหมพร้อมยกตนขึ้นเทียมเจ้าอย่าง ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ที่บรรดาเยาวรุ่นและอาจารย์คลั่งปฏิวัติยกเป็น Idol 

ข้อดีอย่างหนึ่งในช่วงนั้นคือการสร้างความรักชาติอย่างยิ่งยวด การสร้างรัฐชาติให้คนไทยได้เป็นทหารถ้วนทั่วกัน บรรยากาศก่อนมีสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยราวกับถูกตรึงไว้ด้วยความเชื่อของผู้นำ ที่พยายามจะสร้างให้สยามเป็นมหาอำนาจ จากการได้ศึกษาจากเมืองนอกและไปดูตัวอย่างมาจากญี่ปุ่นผสมกับความเป็นฟาสซิสต์ สร้างให้เกิดรัฐนิยมที่แตกต่างไปจากทุกยุค ซึ่งในช่วงก่อน 8 ธันวาคม 2484 ประเทศเรามีความเข้มแข็งด้วยความเชื่อและรักชาติเป็นอย่างยิ่ง 

ทำไม ? ต้องก่อน 8 ธันวาคม 2484 ...ก็เพราะก่อนหน้านั้นเราเป็นมิตรกับญี่ปุ่น เราเชื่อว่าผู้นำทหารของเราจะไม่นำประเทศให้กลายเป็นกึ่งเมืองขึ้นของญี่ปุ่น เรามีความเตรียมพร้อมในการรักษาชาติ ผู้นำประเทศปลุกเร้าความรักชาติ จนเข้าขั้นคลั่งอยู่ทุกวัน เรามีนายร้อยชาย เรามีนายร้อยหญิง เรามียุวชนทหารผู้หาญกล้า แห่งปากน้ำชุมพร ผู้ต่อต้านการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นอย่างสุดกำลังเพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทย 

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ญี่ปุ่นส่งกำลังพลเข้ารุกรานไทยในหลายพื้นที่ชายทะเลของไทยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาถัดมา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นที่เคยช่วยให้ไทยได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืนมาจากฝรั่งเศส โดยมีคำกล่าวอ้างว่าในคืนวันที่ 7 ธันวาคม ประมาณ 23.00 น. ญี่ปุ่นได้ส่งเอกอัครราชทูตเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขออาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่านในการเคลื่อนทัพ แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ระหว่างเดินทางไปราชการที่ต่างจังหวัด เพราะคิดว่าญี่ปุ่นคงจะยังไม่ลงมือรบ ทำให้ขาดผู้มีอำนาจในการสั่งการ ส่วนฝั่งญี่ปุ่นก็ไม่คิดจะรอคำอนุญาตใด ๆ บุกขึ้นฝั่งโจมตีอย่างไม่ให้คนไทยได้รู้ตัว จึงได้เกิดการปะทะกับคนไทยผู้รักชาติตลอดการยกพล ก่อนที่จะมีประกาศให้หยุดยิงในช่วงเช้าประมาณ 07.30 น. ตามประกาศดังนี้....

“...ประกาศของรัฐบาล ได้รับโทรเลขจากจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ว่าเรือรบญี่ปุ่นได้ยกทหารขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และบางปู ทางบกได้เข้าทางจังหวัดพิบูลสงคราม ทุกแห่งดังกล่าวแล้วได้มีการปะทะสู้รบกันอย่างรุนแรงสมเกียรติของทหารและตำรวจไทย 07.30 น. วันนี้ รัฐบาลไทยได้สั่งให้ทหารและตำรวจทุกหน่วยหยุดยิงชั่วคราวเพื่อรอคำสั่ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจากันอยู่ ผลเสียหายทั้งสองฝ่ายยังไม่ปรากฏ...กรมโฆษณาการ 8 ธันวาคม 2484”

ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2484 ได้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนเพื่อที่รัฐบาลจะได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางรัฐบาลได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย เพื่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า ‘เพราะไม่มีทางจะต่อสู้ต้านทานกำลังกองทัพญี่ปุ่นได้จึงยอมตามคำขอ’ ว่ากันว่าการประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมที่สลดใจเป็นที่สุด ตามบันทึกของประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา ว่า.... 

“มวลสมาชิกสภาได้รับทราบดังนั้นแล้ว เพราะเหตุที่ได้กล่าวแล้วว่า คนไทยทุกคนได้รับการปลุกใจให้รักชาติ ให้ทำการต่อสู้ศัตรู ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการรบเมื่อทราบว่ารัฐบาลยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป โดยไม่ได้มีการต่อสู้ตามที่เคยประกาศชักชวนปลุกใจไว้ อันตรงกันข้ามกับจิตใจคนไทยในขณะนั้น จึงทำให้การประชุมในครั้งนั้น เป็นการประชุมที่แสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกันด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตยไปแล้ว”

สรุปคือปลุกใจอย่างบ้าคลั่ง สวนทางกับการกระทำจริง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งความเสื่อมศรัทธาต่อผู้นำ เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาประเทศก็เกินเงินเฟ้อเต็มระบบ เกิดความเหลื่อมล้ำตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นักการเมือง ข้าราชการก็ใส่เกียร์ว่าง ใครกอบโกยได้ก็กอบโกย บ้างก็กลายไปเป็นโจรในเครื่องแบบ จนกระทั่งคนธรรมดากลายเป็นคนจน คนจนก็กลายไปเป็น ‘โจร’

เมื่อเศรษฐกิจเดินไปอย่างถดถอยจนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้และถอนกำลัง แต่ความบอบช้ำจากสงครามยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกิดโจรขึ้นในทุกหย่อมหญ้า เมื่อเลิกสงครามแล้วอาวุธที่สัมพันธมิตรมาทิ้งร่มให้บ้าง ใส่เครื่องบินมาให้บ้าง ตลอดจนอาวุธของกองทัพญี่ปุ่นเมื่อยอมแพ้แล้วก็กระจัดกระจายไปทั่ว ปรากฏว่ามีการซ่องสุมตั้งเป็นโจรก๊กต่าง ๆ ทั่วไป คนไทยก็มาก แต่ที่แปลกก็คือทหารญี่ปุ่นบางส่วนหนีกองทัพไม่กลับประเทศและผันตัวเองไปเป็นโจรปล้นไปทั่ว 

รวม ๆ เราคงไม่มีทางรู้หรอกนะครับว่าในรัฐบาลในยุคนั้นทำไมถึงไม่แก้ปัญหาที่ยากเย็นนี้อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับที่รณรงค์ให้คลั่งชาติบ้าง โดยเฉพาะท่านผู้นำชาติพ้นภัยที่ภายหลังกลายเป็นอาชญากรสงคราม แต่ก็กลับมาเป็นนักการเมืองอย่างต่อเนื่องในภายหลังอีกหลายสมัย โดยมีจดหมายแก้ตัวกรณีการปล่อยให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านโดยสรุปว่า ท่านต้องยอมเพราะไม่มีทางสู้ญี่ปุ่นได้ ต้องทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นพร้อมประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรเพื่อเอาใจญี่ปุ่น เพราะ....

...“ผมไม่ต้องการให้ชาติไทยรบกับชาติใดในสงครามนี้ เพราะรู้ดีว่าถ้ารบกับชาติใดเข้าไทยเป็นแหลกหมด เนื่องจากทุกฝ่ายได้ตระเตรียมกำลังกันไว้อย่างมากมายและอาวุธสมัยใหม่ก็รุนแรงยิ่งนัก”...จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ผมล่ะงงกับตรรกะของท่านผู้นำจริง ๆ รบกันเองอย่างเก่ง แต่พอจะรบจริง ๆ กับชาติอื่น ๆ ท่านบอกเราสู้เขาไม่ได้ จบจดหมายฉบับนี้ท่านบอกจะไปเป็นเกษตรกร แหม่ !!! มันเป็นไปไม่ได้หรอก ผมสรุปสั้น ๆ คือท่านเป็นนักการเมือง อะไรที่ต้องเจ็บตัวและเสียผลประโยชน์ท่านไม่เอา นี่ก็เลยกลายเป็นหอกทิ่มแทงตัว จอมพล ป. ในภายหลังเมื่อหลุดจากการเป็นอาชญากรสงครามแล้วกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งโดยการรัฐประหารแล้วอวยตำแหน่งให้ แต่สุดท้ายเพราะวิบากกรรมของตัวเองก็เลยโดนเขายึดอำนาจจนต้องไปจบชีวิตที่ต่างประเทศ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยากทับถมอดีตหรือกล่าวหาชาติมหามิตรแต่อย่างใด เพียงแต่กำลังแสดงให้เห็นว่า คนจะเป็นโจร มันมีหลายเรื่อง หลายปัจจัย โดยปัจจัยหนึ่งนั้นก็คือการนำอย่างผิด ๆ จนเกิดวิกฤตในชาติ และมันก็สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านหน้าประวัติศาสตร์ ที่บางส่วนถูกนำเอาไปเล่าไว้ในภาพยนตร์อย่าง ‘ขุนพันธ์’ นั่นเอง


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager