กระทรวง อว. ปลดล็อกอีก 2 หลักสูตรแซนด์บ็อก พร้อมผลิต วิศวกรคอมพิวเตอร์ & บุคลากรธุรกิจการบิน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อปี 2565 เราได้รับข่าวดีคณะทำงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ได้อนุมัติ 4 หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ตอบสนองการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ซึ่งก้าวข้ามขีดจำกัดของการจัดการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานเดิม เพื่อจัดการศึกษารูปแบบใหม่ สร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา มุ่งเน้นผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต (Demand Driven) และเท่าทันความต้องการของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ โดยทั้ง 4 หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ นั้น คือ
1.) หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์
นำโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี
2.) หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur
นำโดย International School of Management (ISM) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Thaichamber) และบริษัทต่างๆ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนที่มีความรู้ขั้นแนวหน้า (frontier knowledge) ด้านเทคโนโลยี จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี
3.) หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล
นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล 1,880 คน ภายใน 8 ปี
4.) หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม
นำโดยวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษา ตั้งเป้าผลิตกําลังคนทักษะสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดเชิงนวัตกรรม 175 คน ภายใน 9 ปี โดยรวมแล้วจะสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ ได้ทั้งสิ้นกว่า 17,455 คน
จนกระทั่ง ล่าสุดในปี 2566 นี้ กระทรวง อว.ปลดล็อกอีก 2 หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ได้แก่
5.) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าผลิตกำลังคนในกลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 1,200 คน
6.) หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก เพิ่มการผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
ในโอกาสนี้ ศ.ดร.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เปิดเผยว่า “จากการได้เป็น ประธานคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในวันนี้ ได้อนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 2 หลักสูตร คือ
1.) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลักสูตรนี้ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนในกลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 1,200 คน ซึ่งมีคือการเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านการฝึกงานสม่ำเสมอทุกชั้นปี คือ เรียนทฤษฎีของแต่ละชั้นปีจบก็จะได้ฝึกงานทุกปี โดยจะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองรายภาคการศึกษา หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าเมื่อเรียนจบแต่ละชั้นปีนักศึกษาสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ด้วยโดยสะสมหน่วยกิตไว้ในคลังหน่วยกิต เมื่อพร้อมกลับมาเรียนก็สามารถมาเรียนต่อได้ทันที รวมทั้งใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในการสอนทำให้สามารถรองรับนิสิตได้จำนวนมากขึ้น
นอกจากนั้น จะใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมในการทำโครงงาน และในอนาคตยังสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการ Thailand Plus Package ในการจับคู่ตำแหน่งงานให้นิสิตมีงานทำทั้งในระหว่างเรียนและหลังจบการศึกษา และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสถานประกอบการสำหรับการจ้างงานบุคลากรอีก 1.5 เท่า
โดย อว.จะใช้เป็นต้นแบบเพื่อขยายกำลังการผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยี ชีวภาพ การท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและเชิงสุขภาพ ซึ่งมีความต้องการบุคลากรรวมมากถึง 37,205 คน
ทั้งนี้ ยังได้อนุมัติ หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ การจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก เพื่อเพิ่มการผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรนี้เป็นการจัดการศึกษาร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้น ใช้ผู้สอนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงาน
อีกทั้งเป็นหลักสูตรมาตรฐานระดับสากลได้รับการรับรองจากองค์กรการบินนานาชาติ ICAO/IATA พร้อมประกาศนียบัตร โดยบัณฑิตทุกคนจะได้รับการจ้างงาน 100% รวมถึงยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 จากหลักสูตรอื่นสามารถเข้าศึกษาและได้รับปริญญาใบที่สอง หรือ Double Degree ได้ โดยทั้ง 2 หลักสูตรที่ได้รับการอนุมัตินี้ สามารถให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้
เราคาดหวังว่าหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่ผ่านการอนุมัติใหม่นี้ จะส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนที่ตรงกับความต้องการของประเทศอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก และยังช่วยพัฒนาทักษะในสาขาอาชีพที่จำเป็นในอนาคตให้กับนักศึกษาด้วย สามารถเข้าไปเสริมความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ทันที”
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และประธานคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“ปัจจุบันมีข้อเสนอเชิงหลักการฯ รวม 162 ข้อเสนอที่ยื่นเข้ามาเพื่อขอรับการอนุมัติเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีและเป็นมิติใหม่ของอุดมศึกษาไทย แต่หลักสูตรส่วนใหญ่ที่เสนอเข้ามา คณะทำงานได้เห็นชอบให้สามารถดำเนินการได้เลยตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 ไม่จำเป็นต้องขอผ่านแซนด์บ็อกซ์ เพราะเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ เปิดกว้างและปลดล๊อกข้อจำกัดต่าง ๆ ไปมากแล้ว”
ขณะที่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะเลขานุการการประชุมฯ ได้กล่าวให้ข้อมูลอัปเดตถึง 4 หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ที่อนุมัติไปแล้วว่า
“สำหรับความก้าวหน้าของข้อเสนอที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วอย่างหลักสูตรการผลิตกำลังคน High tech Entrepreneur ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหลักสูตรการผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ปัจจุบันได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรแล้ว”
ที่มา : https://www.salika.co/2023/03/05/sandbox-program-increase-computer-engineer-and-aviation/