‘คนไทย’ เกินครึ่ง เชื่อ!! ลุงตู่ VS ลุงป้อม ไม่ แตกกัน

แม้ 2 พรรคใหญ่ อย่าง 'พลังประชารัฐ' และ 'รวมไทยสร้างชาติ' จาก 2 ป. พี่น้อง 'ป้อม-ตู่' จะเริ่มออกมาเรียกคะแนนเรียกคะแนนเสียง และฟาดฟันกันด้วยนโยบายเคลมบลัฟแบบไม่ไว้หน้ากัน จนสะท้อนภาพรอยร้าวในความสัมพันธ์ของคู่พี่น้องให้ประชาชนสัมผัสได้ชัดขึ้น แต่หากย้อนดูโพลเมื่อวันที่ 29 ม.ค.66 ก็เชื่อว่านี่น่าจะยังเป็นเพียงความดุเดือดทางการเมือง ที่ท้ายสุด อาจจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์แยกกันเดิน ร่วมกันตี หลังการเลือกตั้งนี้จบลง ก็เป็นไปได้

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในวันนั้นได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปะทะ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)' ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 23-25 มกราคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
 

***จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ กับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ พบว่า...

>> ตัวอย่าง ร้อยละ 46.56 ระบุว่า พลเอกประวิตร กับ พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้แตกกัน เป็นเพียงแค่การแข่งขันทางการเมือง 
>> รองลงมา ร้อยละ 28.93 ระบุว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้และศรัตรูที่ถาวร 
>> ร้อยละ 20.53 ระบุว่า เป็นสีสันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 
>> ร้อยละ 12.52 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นอิสระมากขึ้นในการตัดสินใจทางการเมืองและการบริหารประเทศ 
>> ร้อยละ 10.76 ระบุว่า การแข่งขันกันจะทำให้ทั้งสองพรรคได้ ส.ส. รวมกันแล้วน้อยกว่าจำนวน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562 
>> ร้อยละ 9.01 ระบุว่า พลเอกประวิตร กับ พลเอกประยุทธ์ แตกกันอย่างแน่นอน 
>> ร้อยละ 8.78 ระบุว่า พลเอกประวิตร และ พรรคพลังประชารัฐ เป็นอิสระมากขึ้น สามารถร่วมรัฐบาลกับฝั่งไหนก็ได้หลังการเลือกตั้ง 
>> ร้อยละ 6.56 ระบุว่า การแข่งขันกันจะทำให้ทั้งสองพรรคได้ ส.ส. รวมกันแล้วมากกว่าจำนวน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 
>> ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ผู้ที่เคยสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ แต่ไม่ชอบ พรรคพลังประชารัฐ จะกลับมาสนับสนุน พลเอกประยุทธ์มากขึ้น 
>> และร้อยละ 3.05 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

***ขณะที่ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวน ส.ส. ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า...

>> ตัวอย่าง ร้อยละ 42.75 ระบุว่า ทั้งสองพรรค จะได้จำนวน ส.ส. เท่า ๆ กัน 
>> รองลงมา ร้อยละ 25.73 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ ของพลเอกประวิตร จะได้จำนวน ส.ส. มากกว่า
>> ร้อยละ 24.73 ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ของพลเอกประยุทธ์ จะได้จำนวน ส.ส. มากกว่า
>> และร้อยละ 6.79 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

***ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า...

>> ตัวอย่าง ร้อยละ 38.40 ระบุว่า เป็นไปได้มาก 
>> รองลงมา ร้อยละ 30.07 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้
>> ร้อยละ 18.32 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย 
>> ร้อยละ 11.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้ 
>> และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ


ที่มา: นิด้าโพล หัวข้อ ''พรรคพลังประชารัฐ' (พปชร.) ปะทะ 'พรรครวมไทยสร้างชาติ' (รทสช.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2566