รู้จัก 'โรคเตียงดูด' เสพติดการนอน อีกหนึ่งสัญญาณเตือนอาการป่วย

(2 มี.ค.66) ชวนทำความรู้จักภาวะ 'Dysania' หรือ ภาวะเสพติดการนอน โดยทางเว็บไซต์ POBPAD ได้อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ว่า เสพติดการนอน (Dysania) หรือที่บางคนเรียกว่า 'โรคเตียงดูด' เป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนมากจนไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้ แม้จะไม่ได้จัดเป็นโรคโดยตรง แต่อาการที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

อาการของ Dysania โรคเตียงดูด
รู้สึกไม่อยากลุกจากเตียง ใช้เวลาอยู่บนเตียงนานผิดปกติทั้งในเวลากลางคืนและระหว่างวัน แต่คนที่มีภาวะเสพติดการนอนอาจไม่ได้ใช้เวลานอนหลับนานกว่าคนอื่นเสมอไป

ทั้งนี้ ระยะเวลาการนอนปกติของคนทั่วไปจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ เช่น เด็กวัยเรียนอายุ 6–13 ปี ใช้นเวลานอนวันละ 9–11 ชั่วโมง วัยรุ่นอายุ 14–17 ปี ใช้เวลานอนวันละ 8–10 ชั่วโมง และผู้ใหญ่อายุ 18–64 ปี ใช้เวลานอนวันละ 7–9 ชั่วโมง หากนอนหลับอย่างเพียงพอตามระยะเวลาแต่ยังรู้สึกอ่อนเพลียมาก และไม่สามารถตื่นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ 

สาเหตุและผลเสียของการเสพติดการนอน

โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมักมีอาการนอนมากผิดปกติและอ่อนเพลีย ร่วมกับอาการอื่น เช่น เศร้าและร้องไห้บ่อย หมดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว ความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง ปวดศีรษะและปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ

กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome หรือ Myalgic Encephalomyelitis) ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากลุกจากเตียง และแม้จะพักผ่อนแล้วก็ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น

ภาวะนอนมากเกินไป (Hypersomnia) ทำให้มีอาการง่วงนอนมากในช่วงกลางวันจนสามารถหลับได้ตลอดเวลา

ความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ที่ทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท เมื่อตื่นมาจะรู้สึกง่วง อ่อนเพลีย และไม่อยากลุกจากเตียง

โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โลหิตจาง มะเร็ง ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) และกลุ่มโรคไทรอยด์อย่าง ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) และโรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto’s Thyroiditis) ที่ทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียง่ายกว่าคนทั่วไป

ความเศร้าโศกเสียใจ ที่เกิดจากการสูญเสีย ซึ่งอาจทำให้นอนหลับยากและนอนไม่พอ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้าที่ทำให้อ่อนเพลียและง่วงนอน

วิธีรับมือกับอาการไม่อยากตื่น

เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน จัดห้องนอนให้น่านอน มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม

หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก่อนเข้านอน

ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ และนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักใกล้เวลาเข้านอน

หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

แม้การเสพติดการนอนจะไม่ใช่โรค แต่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้ ถ้าลองทำตามวิธีเหล่านี้แล้วยังมีอาการง่วงนอนผิดปกติจนกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือการทำงาน หรือมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง หรือมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป 


ขอบคุณข้อมูล : POBPAD / naewna