นามสกุลแรกแห่งสยาม เจ้าพระยายมราช ปั้น ‘สุขุม’ เจ้าของนามสกุลหมายเลข ๐๐๐๑

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเหล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนนานาอารยประเทศ โดยให้มีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล โดยใช้แนวทางแบบตะวันตก ซึ่งพระองค์ได้ทรงประกาศขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ ๒๔๕๖ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ปีเดียวกัน โดยเรียกพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า ‘พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดและพระราชทานนามสกุลครั้งแรกที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๕๖ โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลออกมา ๕ นามสกุล อันประกอบด้วย…

1) นามสกุลพระราชทาน หมายเลข ๐๐๐๑ ‘สุขุม’ 
2) นามสกุลพระราชทาน หมายเลข ๐๐๐๒ ‘มาลากุล’
3) นามสกุลพระราชทาน หมายเลข ๐๐๐๓ ‘พึ่งบุญ’
4) นามสกุลพระราชทาน หมายเลข ๐๐๐๔ ‘ณ มหาไชย’
5) นามสกุลพระราชทาน หมายเลข ๐๐๐๕ ‘ไกรฤกษ์’

ซึ่งผมจะเล่าถึงนามสกุลหมายเลข ๐๐๐๑ เนื่องเป็นนามสกุลพระราชทานนามสกุลแรก โดยในหลวงรัชกาลที่ ๖ พระราชทานให้แก่ ‘เจ้าพระยายมราช’ (ปั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น นามสกุล ‘สุขุม’ กำหนดเขียนเป็นอักษรโรมันว่า ‘Sukhum’ ทำไม ? ต้องเป็น ‘สุขุม’

ขอเล่าถึงประวัติของท่านผู้รับพระราชทาน ‘เจ้าพระยายมราช’ (ปั้น สุขุม) ท่านนี้กันสักหน่อยเพื่อให้ประจักษ์ถึงที่มาของนามสกุลพระราชทาน ว่ามีที่มา ที่ไป เป็นอย่างไร  เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๖ คน ของนายกลั่น และนางผึ้ง เมื่ออายุ ๖ ขวบ พ่อและแม่ของท่านได้ยกให้พระครูใบฎีกาอ่วม แห่งวัดหงส์รัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งนับถือและสนิทกันมาก ขณะไปเทศน์ที่วัดประตูสาร คือเรียกว่า ‘ใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระ’ 

พระครูใบฎีกาอ่วมได้สอนให้เด็กชายปั้นเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ตามธรรมเนียมของการศึกษาในสมัยนั้น จนเมื่ออายุครบกำหนดก็ได้บวชเณรและบวชพระให้ตามลำดับ พระภิกษุปั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยและภาษาบาลีอย่างแตกฉาน โดยในปี ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ โปรดให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมขึ้นที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ปรากฏในการสอบ ๓ วันแรกในระดับ ‘มหา’ นั้น พระภิกษุ ‘ปั้น’ แห่งวัดหงส์รัตนาราม สอบได้เพียงรูปเดียวเท่านั้น นอกนั้นตกหมด ทำให้ชื่อเสียงของ ‘พระมหาปั้น’ เป็นที่เลื่องลือ จนได้มีโอกาสพบกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันและสนพระทัยในการศาสนา จึงชอบไปมาหาสู่ สนทนากับพระมหาปั้นอยู่เนืองๆ  จนกระทั่งครั้งหนึ่งพระมหาปั้นได้ปรารภว่าอยากจะสึกออกมาดำเนินชีวิตทางโลก ขอให้พระองค์ช่วยหางานให้ทำด้วย 

กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นทรงเป็นอาจารย์ของโรงเรียนพระตำหนักมหาดเล็กหลวง ในพระบรมมหาราชวัง จึงกราบทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอบรรจุ ‘มหาปั้น’ ซึ่งลาผนวชแล้ว เข้าเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักด้วย ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับเข้าเป็นครูภาษาไทย พร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘ขุนวิจิตรวรสาส์น’ สังกัดกรมพระอาลักษณ์ 

ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าหลวง จะทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ๔ พระองค์ ก็ทรงคำนึงว่าพระเจ้าลูกยาเธอยังทรงพระเยาว์เกรงจะลืมภาษาไทยเสียหมด จำจะต้องส่งอาจารย์ภาษาไทยไปถวายการสอนที่นั่นด้วย และตำแหน่งนี้คงไม่มีใครเหมาะเท่า ‘ขุนวิจิตรวรสาส์น’ ด้วยเหตุนี้ ท่านขุนจึงถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอน โดยหน้าที่หลักคือพระอาจารย์ภาษาไทยของบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอและเจ้าฟ้าทั้งหลาย

โดยส่วนตัวของท่าน ‘เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ชอบแสวงหาความรู้อยู่แล้ว จึงถือโอกาสนี้จ้างครูมาสอนภาษาอังกฤษให้ตนเอง จนสามารถทั้งพูด อ่าน เขียนได้ดี จากการทำงานที่มีคุณภาพเรียบร้อย ในปลายปี ๒๔๒๘ จึงได้รับ โปรดเกล้าฯ ให้ ‘ขุนวิจิตรวรสาส์น’ ขยับเป็น ‘หลวงวิจิตรวรสาส์น’ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอน

ในปี ๒๔๓๑ ระหว่างที่คุณหลวงวิจิตรฯ เดินทางมาราชการที่เมืองไทย ได้กราบทูล กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทรงมีพระคุณแก่คุณหลวงมาตลอด ได้เป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอ ‘นางสาวตลับ’ บุตรสาวของ ‘หลวงวิเศษสาลี’ โดยกรมพระยาดำรง ฯ ท่านก็ขอร้องให้เจ้าจอมมารดาชุ่ม มารดาของท่าน ไปสู่ขอคู่ครองให้ ‘หลวงวิจิตรวรสาส์น’ จนได้แต่งงานเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่ บ่าว-สาว จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่ลอนดอน ตามหน้าที่ของคุณหลวง 

ในปี ๒๔๓๖ หลวงวิจิตรวรสาส์นได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระวิจิตรวรสาส์น ตำแหน่งอุปทูตประจำกรุงลอนดอน จนในปี ๒๔๓๗ คุณพระวิจิตรฯ และภรรยาได้เดินทางมาส่งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี ซึ่งสำเร็จการศึกษา ที่ประเทศไทยและไม่ได้กลับไปทำหน้าที่ในกรุงลอนดอนอีก เพราะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งเลขานุการเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการในกระทรวงมหาดไทยได้ไม่นาน ในปี ๒๔๓๙ พระวิจิตรวรสาส์น ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระยาสุขุมนัยวินิต’ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งมีที่ว่าราชการอยู่ที่จังหวัดสงขลา

การลงไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนี้ นับว่าเป็นการมอบหน้าที่สำคัญยิ่งให้ เพราะการปกครองในขณะนั้น หัวเมืองภาคใต้และมลายู ยังอยู่ในแบบเมืองขึ้น มีเจ้าเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการ มีหน้าที่ส่งส่วยอากรประจำปีมายังเมืองหลวง แต่การปกครองแบบใหม่ที่ท่านต้องดำเนินการคือการให้รวมหัวเมืองปักษ์ใต้ มี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปะลิส และหนองจิก มาเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช เปลี่ยนฐานะผู้สำเร็จราชการเมืองต่างๆ เหล่านั้น มาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ที่สำคัญคือภาษีอากรที่เคยเก็บเลี้ยงตัวเอง ที่เรียกว่า ‘กินเมือง’ ต้องส่งให้รัฐบาลทั้งหมด โดยเจ้าเมืองจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนแบบนี้ ต้องทำให้เจ้าเมืองทั้งหลายขุ่นเคืองเป็นแน่ เพราะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้ และอาจจะก่อให้การกระด้างกระเดื่องขึ้นได้ แต่ ‘พระยาสุขุมนัยวินิต’ สามารถใช้ความ ‘สุขุม’ วางกุศโลบายดำเนินงานได้อย่างเรียบร้อย ทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นแต่อย่างใด

พระยาสุขุมนัยวินิต อยู่ในตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชถึง ๑๒ ปี ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ขณะที่มีอายุได้ ๔๖ ปี โดย สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้มีพระบรมราชโองการสดุดี และยกขึ้นเป็น ‘เจ้าพระยา’ โดยมีความตอนหนึ่งว่า.... “...พระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้มีอัธยาศัยซื่อตรง มั่นคงต่อความคิดอันได้กำหนดไว้ว่าจะทำแล้ว มิได้ละเลยให้จืดจางเคลื่อนคลาย มีความรู้และสติปัญญาพอที่จะใช้ความตั้งใจนั้นให้ดำเนินไปได้ด้วยแยบคายและอุบายอันชอบ ...ทรงพระราชดำริว่า ผู้ซึ่งมีอัธยาศัยและความสามารถเช่นนี้ คงจะได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ยืนยาว เป็นผู้สมควรจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่องไว้ในตำแหน่ง ‘เจ้าพระยา’ ให้เป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการทั้งปวงสืบไปภายหน้า....จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระยาสุขุมนัยวินิต ขึ้นเป็น เจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า เจ้าพระยายมราชชาติเสนางนครินทร์...”

ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ สมเด็จพระปิยมหาราชสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเรียกเจ้าพระยายมราชว่า ‘ครู’ ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงมอบหมายงานให้ท่านอย่างมากมาย อาทิ จัดวางระบบตำรวจนครบาลจัดการประปาโดยขุดคลองไปรับน้ำมาจากเชียงราก จัดตั้งโรงไฟฟ้าของสยามเอง จัดตั้งบริษัทซึ่งเป็นบริษัทแรกของคนไทยที่ลงทุนถึง ๑ ล้านบาท ยังไม่รวมงานอีกมากมายที่ท่านได้รับผิดชอบ รวมเวลารับราชการอยู่ถึง ๔๓ ปี โดยอยู่ในหน้าที่พระอาจารย์ภาษาไทย พระอภิบาล และสถานทูตสยามในลอนดอน ๑๑ ปี เลขานุการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และข้าหลวงเทศาภิบาล ๑๒ ปี เสนาบดี ๓ กระทรวง ๒๐ ปี โดยในปี ๒๔๖๘ ท่านได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี เนื่องจากอายุสังขารที่ชราลง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

เล่าประวัติ ‘เจ้าพระยายมราช’ (ปั้น สุขุม) มายืดยาว แต่ยังไม่ได้ไปแตะเรื่องที่มาของนามสกุล ‘สุขุม’ เลย แต่ผมเชื่อว่าผู้อ่านจะเห็นความ ‘สุขุม’ ที่มีอยู่ในงานที่ท่านทำ เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงเรื่องนามสกุลของ ‘เจ้าพระยายมราช’ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๕๖ ไว้ดังนี้…

....นามสกุลของเจ้าพระยายมราชนั้น ฉันได้ไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าตัวพระยายมราชเองนับได้ว่าเปนผู้ที่ทำให้สกุลได้มีชื่อเสียงในแผ่นดินไทย เจ้าพระยายมราชเองได้ตั้งตนขึ้นโดยอาไศรยคุณธรรมในตัว เปนผู้ที่มีสติปัญญาและอุสาหวิริยภาพมาก ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ได้รับราชการเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและในตัวฉันเองสืบมา
....ราชกิจใด ๆ ที่เจ้าพระยายมราชได้ปฏิบัติมาก็ปรากฏว่าได้ใช้ความไตร่ตรองอันสุขุม ทั้งเจ้าพระยายมราชก็ได้มีชื่อเสียงปรากฏแพร่หลายมากขึ้นเมื่อเปนพระยาสุขุมนัยวินิต จนได้มีคำว่า ‘สุขุมนัยวินิต’ ประกอบอยู่ในสร้อยสมยา
....เพราะฉะนั้นฉันขอให้นามสกุลเจ้าพระยายมราชว่า ‘สุขุม’ (เขียนเปนตัวอักษรโรมันว่า ‘Sukhum’)
....เพื่อให้เปนเกียรติยศปรากฏนามแห่งเจ้าพระยายมราชในตำนานแห่งชาติไทย ขอให้สกุลสุขุมเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน
.....วชิราวุธ ปร.....

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ขึ้นครองราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) รวมอยู่ด้วย

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๘ สิริรวมอายุ ๗๕ ปี 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager