‘ชาติพัฒนากล้า’ ชี้ช่องทางขับเคลื่อน SME ไทย ต้องสร้างโอกาสนิยม-ขายของออนไลน์ ควบคู่กันไป

(15 ก.พ. 66) ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพ ราชประสงค์ นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวในเวทีเสวนา ‘อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน’ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย และ 98% ของธุรกิจเป็นผู้ประกอบการรายเล็กและรายจิ๋ว มีขนาดกลางเพียง 2% เท่านั้น พรรคชาติพัฒนากล้า เราจะสู้เพื่อเอสเอ็มอี เพราะตระหนักดีว่า เอสเอ็มอีโตไม่ได้ถ้าไม่มีใครสู้เพื่อพวกเขา 

นายวรวุฒิ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายโอกาสนิยม เพื่อให้เอสเอ็มอีแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง โดยการสร้างโอกาส ติดอาวุธ ให้แต้มต่อ ในการเข้าถึงเงินทุนพัฒนาตัวเองให้เติบโตทั้งผลิตภัณฑ์ทั้งระบบและวิธีการทำงาน ปัจจุบันเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าสู่การกู้เงินในระบบ บางคนติดแบล็กลิสต์บูโร จนต้องพึ่งหนี้นอกระบบ พรรคชาติพัฒนากล้าเสนอให้ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร และมาใช้ระบบเครดิตสกอร์แทน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินเข้มแข็งขึ้น เพราะผู้ที่ติดแบล็กลิสต์ถึงประมาณ 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 3.2 ล้านคนที่ติดแบล็กลิสต์ช่วงโควิด อีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจ คือ เอสเอ็มอีต้องสามารถทำให้คนในประเทศพอใจและมั่นใจ ที่จะใช้สินค้าไทยที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่ ไทยทำ ไทยใช้ ไทยส่งออก ไทยมั่งคั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า มีโมเดลคลาวน์ แฟคตอรี่ ที่ อบต.บ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา มี อย.กลางให้เอสเอ็มอีมาใช้บริการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากพัฒนาโมเดลดังกล่าวทั่วประเทศจะทำให้สินค้าได้รับการพัฒนาได้อย่างมีมาตรฐานทั้งตัวผลิตภัณฑ์และแพคเกจจิ้ง คนไทยมั่นใจในสินค้าไทย และสามารถส่งออกได้ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนจากประเทศที่ซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นขายสินค้าออนไลน์ ขายให้เป็น ใช้ทีมขายเอกชน เหมือนที่ประเทศจีนทำสำเร็จมาแล้ว

นายวรวุฒิ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายหาเงินให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาทในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ด้วยยุทธศาสตร์ Spectrum Economy หรือ ธุรกิจเฉดสี เป็นนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเอสเอ็มอี ทั้ง เศรษฐกิจสีขาวหรือเศรษฐกิจสายมู เศรษฐกิจสีรุ้ง หรือ Raninbow Economy โอกาสทางเศรษฐกิจจากกลุ่ม LGBTQ จากทั่วโลก เศรษฐกิจสายเทค ทั้งกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ตอัป ฯลฯ ดังนั้นจึงขอย้ำว่า โอกาสนิยมเราต้องสร้าง 

ต่อข้อถามที่ว่า จะส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างไรให้ผลิตสินค้าให้ได้รับการยอมรับเหมือนประเทศญี่ปุ่น นายวรวุฒิ กล่าวว่า การเพิ่มมูลค่าผลิตต้องเริ่มจากการแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรต้องทำลักษณะเกษตรพรีเมี่ยม เหมือนสินค้าญี่ปุ่นที่สามารถตั้งราคาได้และมีลูกค้าที่ยินดีจะจ่าย อย่างไรก็ตามสินค้าที่ดีต้องมีการวิจัยทั้งตัวผลิตภัณฑ์ และวิจัยตลาดด้วย เพราะปัญหาเอสเอ็มอี คือมักจะผลิตตามความสามารถ ไม่ได้สนใจว่าจะมีตลาดหรือไม่ ยกตัวอย่างสินค้าโอท็อป ที่มีสินค้า me to เกิดขึ้นเต็มไปหมด ดังนั้นการพัฒนาต้องจัดรวมศูนย์ และจัดคลัสเตอร์ ตามความถนัดของแต่ละกลุ่มเกษตรกร ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาคุณภาพและเปิดตลาดให้พวกเขาอย่างกว้างขวาง การค้าขายออนไลน์ คือหนึ่งคำตอบที่สามารถช่วยได้