รำลึก 9 กุมภา สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์ 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' นักเขียนหนุ่มแห่งกลุ่มนาคร ในวัยครบ 57 ปีเต็ม

ในหมู่ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ยังคงธรรมเนียมอวยพรวันคลัายวันเกิดแก่ผู้วายชนม์ไปแล้วว่า “Happy Heavenly Birthday” ประมาณ “สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์” อันคล้ายกับคติบ้านเราเกี่ยวแก่การนับ 'ชาตกาล' โดยครบกี่ปีก็ว่าต่อไป เพื่อยกย่องคุณงามความดีของผู้นั้นเสมือนยังคงชีวิตหลังความตาย

ว่ากระนั้นแล้ว กระผมก็เห็นดีงามในวันที่ '9 กุมภาพันธ์' ที่ต้องขอกล่าว “Happy Heavenly Birthday” แก่นักเขียนหนุ่มตลอดกาล 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' โดยหากเขายังดำเนินชีวิตต่อจนปัจจุบัน ก็จะมีอายุ 57 ปีเต็ม

ถนนงานเขียนของกนกพงศ์เริ่มจากการสนใจ 'อ่าน' ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะมีบิดารักการอ่านและท่านยังบอกรับหนังสือทุกประเภทเข้าบ้าน จนเมื่อเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษา กนกพงศ์มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเขียนชาวใต้นาม 'กลุ่มนาคร' จนจุดประกายงานเขียนเขาขึ้น กระทั่งมีผลงานบทกวีชิ้นแรก 'ความจริงที่เป็นไป' ตีพิมพ์ใน 'สยามใหม่' ขณะศึกษาเพียงชั้นมัธยมต้น (พ.ศ. 2523) เท่านั้น

จนเมื่อลาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย กนกพงศ์จึงหันหน้าสู่งานประพันธ์อย่างเต็มเวลา โดยเริ่มงานด้านสำนักพิมพ์ช่วงสั้น ๆ แล้วจึงเดินทางบ่ายหน้าสู่เทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ถิ่นนักเขียนเปี่ยมพลังในกลุ่มนาคร (ซึ่งวิวัฒน์ต่อเป็น - สำนักพิมพ์นาคร) เขาท่องเที่ยวเดินทางยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเขตปักษ์ใต้ เพื่อศึกษาและทำงานเขียนหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง จนมีงานตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี

โดยนับต่อจากเรื่องสั้นแรก 'ดุจตะวันอันเจิดจ้า' ใน 'มติชนสุดสัปดาห์' แล้ว ก็มีเรื่องสั้นทยอยรวมชุดออกมาถึง 7 ชุด จาก พ.ศ. 2534 - 2549 อันไอ้แก่ สะพานขาด (ชุดที่ 1) คนใบเลี้ยงเดี่ยว (2) แผ่นดินอื่น (3) โลกหมุนรอบตัวเอง (4) นิทานประเทศ (5) รอบบ้านทั้งสี่ทิศ (6) คนตัวเล็ก (7) และ กวีตาย (เรื่องสั้นเล่มเล็ก) คั่นก่อนปิดท้าย

พี่ลอง 'จำลอง ฝั่งชลจิตร' เจ้าของนามปากกา 'ลอง เรื่องสั้น' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บนฐานะพี่ใหญ่ของนักเขียนเมืองนครฯ เคยยกย่องนักเขียนรุ่นน้องนาม 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' ในวันที่ปราศจากเขาไว้ว่า "...นักเขียนตัวจริง ที่มีความจริงจัง ทุ่มเทชีวิตในการทำงานเขียน รวมถึงมีความพิถีพิถันต่อการทำงานอย่างสูง พยายามพัฒนาหามุมมอง และวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้งานออกมาอยู่ในระดับที่เยี่ยมยอด"

นอกจากรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2539 ที่เขาได้รับจากผลงานรวมเรื่องสั้น 'แผ่นดินอื่น' รวมถึงรางวัลช่อการะเกดอีกสองครั้งจากเรื่องสั้น 'สะพานขาด' และ 'โลกใบเล็กของซัลมาน' แล้ว กนกพงศ์ยังมีความสามารถทางกวีนิพนธ์อันเยี่ยมยอดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งงานรวมเล่ม ป่าน้ำค้าง (2532) ในหุบเขา (2549) หมื่นปีกนก (2552) กวีนิพนธ์ทั้งสามเล่มคงยืนยันได้ดี

'ชีวี ชีวา' หรือ 'จตุพล บุญพรัด' บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ เพื่อนรักอีกคนผู้เคยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันจาก 'กลุ่มนกสีเหลือง' ก็เคยกล่าวถึงกนกพงศ์ด้วยความคำนึงและชื่นชม “...กนกพงศ์มีอิทธิพลกับนักเขียนรุ่นน้อง และคนรุ่นหลัง ในการใช้ชีวิตเพื่อเขียนหนังสือ และผลิตงานที่ดี ๆ ออกมา เขาพยายามเป็นแกนหลักและเป็นตัวประสานงานอยู่เสมอในกิจกรรมพวกนี้"

หนังสือทุกเล่มในนามงานเขียนของ 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' แทบทั้งหมดดำเนินการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาคร มีเพียง 'สะพานขาด' ที่จัดพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์นกสีเหลือง

กนกพงศ์เสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วนช่วงเช้าของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ก่อนวันวาเลนไทน์ปีนั้นเพียงหนึ่งวัน ด้วยภาวะน้ำท่วมปอดซึ่งต่อเนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่ เขาเหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ต่อนักเขียนรุ่นต่อมาตั้งแต่บัดนั้น

"...ฉันอาจหาญคิด - ไม่มีใครเขียนถึงพี่ได้ดีเท่าฉัน และพร้อมกันนั้น ฉันก็เห็นว่าชีวิตอันแสนสั้นของพี่มีค่าเพียงใด พี่อยู่อย่างสุกสว่าง ใช้ชีวิตของนักเขียน เจิดจ้าในฝนโปรยไพร และพี่จากไปเพียงกาย เรื่องเล่าที่ฝากไว้ แม้ไม่มากเท่าที่ตั้งใจหมายมั่น แต่มันมากพอ พี่ยังอยู่ งานของพี่เกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อมีคนอ่าน"

"...ถ้ามีคนถาม ฉันเขียนถึงพี่เพื่ออะไร อย่างเล่นลิ้น ฉันอาจตอบว่าคิดถึง แต่…พี่คะ ไม่มีเหตุผลที่ฉันจะไม่เขียน นี่ไม่ใช่การเขียนถึงความตาย แต่เป็นเรื่องราวแห่งชีวิต การเกิดใหม่ในเรื่องเล่า และเป็นน้ำหวานที่กลั่นจากน้ำตา—ของฉัน"

'ชมพู - อุรุดา โควินท์' คู่ชีวิตผู้เคยเคียง เขียนถึงกนกพงศ์ในแบบที่เธอรู้จัก ในนามของคนรัก และในนามของนักเขียน อย่างหวานระทมที่สุด จากวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษหลังกนกพงศ์สิ้นลมหายใจ


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์