ย้อนตำนาน 'การเลือกตั้งครั้งแรก' ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นของการใช้สิทธิ์ ของประชาชนไทย

หายใจอีกไม่กี่ที กะพริบตาอีกไม่กี่หนก็จะถึงช่วงเวลาที่ 'คนไทย' ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กว่า 52 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก หรือที่เรียกว่า 'นิวโหวตเตอร์' จำนวนกว่า 8.1 แสนคน จะได้ใช้อำนาจทางการเมืองผ่านปลายปากกา เลือกผู้แทนราษฎรเข้าสภาอีกครั้ง 

ไม่ว่าเงื่อนไขที่นำไปสู่การเลือกตั้ง จะเกิดจากการยุบสภา หรือ การสิ้นสุดวาระของสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม หากไม่มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น คาดว่าห้วงเวลาของการจัดการเลือกตั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ 

แต่ก่อนจะถึงวันเข้าคูหา กากบาทเลือกพรรคที่ชอบ & คนที่ใช่ The State Times ขอหยิบยกเอาเรื่องราวการเลือกตั้งของประเทศไทย นับจากอดีต สู่ปัจจุบัน มาบอกเล่ากัน โหมโรงเรื่องแรก #เลือกตั้งสตอรี่ เราพาย้อนเวลากลับไป ในวันที่คนไทยทุกคน เริ่มต้นเป็น 'นิวโหวตเตอร์' ในการเลือกตั้งครั้งแรก 

กว่า 90 ปีก่อน ห้วงเวลาแห่งการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน  2475 คือวันที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบการเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นระบบรัฐสภา

กลไกการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกประกอบสร้างและเริ่มวางรากฐานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการเปิดทางให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง

แค่ราว 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวาคม 2475 รัฐบาลคณะราษฎร  ซึ่งมีพระยาพหล พลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยเป็น 'การเลือกตั้งทางอ้อม' ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

ในปีนั้นประเทศไทยยังมีอยู่ 70 จังหวัด มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 4,278,231 คน และมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งแรก 1,773,532 คน โดยมีการกำหนดสัดส่วนประชากร ต่อจำนวนผู้แทนอยู่ที่ 1 ต่อ 200,000 คน ส่วนผู้แทน จะมี 2 ประเภท ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง 

สำหรับรูปแบบการเลือกตั้ง ครั้งนั้นมีการกำหนดให้กรมการอำเภอจัดการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศ โดยประชาชนจะไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือก จะเข้าไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดมีผู้แทนได้ 1 คน ยกเว้น

จังหวัดพระนคร อุบลราชธานี มีผู้แทนได้ 3 คน จังหวัดเชียงใหม่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา มีผู้แทนได้ 2 คน เบ็ดเสร็จนับรวมทุกจังหวัด จะมีผู้แทนจากการเลือกตั้ง 78 คน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากการแต่งตั้งอีก 78 คนเท่ากัน เมื่อรวมกันแล้ว ได้ 156 คน จัดตั้งเป็นคณะรัฐบาลมีกำหนดวาระ 4 ปี

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ส่งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา หวนกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 และเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้แทนราษฎร อย่าง เลียง ไชยกาล , โชติ คุ้มพันธ์ และ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กลายเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมา