‘การยืนเคารพ’ จากประกาศของ ‘คณะราษฎร’ สู่ความย้อนแย้งแห่ง ‘เยาวรุ่น’ ที่ดันไม่ทำตาม

เมื่อหลายวันก่อนในงานคอนเสิร์ตของ BLACKPINK มีประเด็นดราม่าเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่มี ‘คนบ้า’ คลั่งปฏิวัติคนหนึ่งออกมาห้อยโหนจนน่ารำคาญ พออ่านข้อความจากบุคคลท่านนั้นผมก็เลยรู้สึกถึงความย้อนแย้งที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอของบุคคลท่านนี้ เพราะจริงๆ คนที่บังคับให้คนต้องยืนตรงเคารพเพลงในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ กลุ่มบุคคลที่ ‘คนบ้า’ คลั่งปฏิวัติคนนี้เคารพซะเหลือเกิน นั่นก็คือ ‘คณะราษฎร’ และ 1 ในผู้ก่อการที่คลั่งการให้คนอื่นยืนเคารพตนและเพลงที่แต่งเพื่อตัวเองนั่นก็คือ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ แต่ก่อนจะไปเล่าเรื่อง ‘บ้าๆ’ ของผู้นำชาติพ้นภัย ผมขอเล่าเรื่องของเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ก่อนนะครับ 

จุดเริ่มต้นของบทเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ นั้น สืบเนื่องมาตั้งแต่ในสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการใช้เพลง ‘God Save the King’ ในการบรรเลงถวายความเคารพแด่องค์กษัตริย์ตามแบบอย่างธรรมเนียมการฝึกทหารจากทางฝั่งสหราชอาณาจักร 

ครั้นเมื่อถึงรัชสมัยของ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 5 พระองค์ เสด็จฯ ติดต่อกับต่างแดนสม่ำเสมอ โดยเฉพาะชาติอาณานิคม เช่น การเสด็จประพาสเกาะชวาและเมืองสิงคโปร์ในช่วงปี พ.ศ. 2414 ทหารที่นั่นก็ได้ใช้เพลง God Save the King บรรเลงเป็นเพลงพระเกียรติเพื่อรับเสด็จเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและซ้ำซ้อนกันนี้ พระองค์จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีไทยให้แต่งเพลงรับเสด็จขึ้นใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ซึ่งในช่วงแรก เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นใช้ ‘เพลงบุหลันลอยเลื่อน’ ที่มีการเรียบเรียงทำนองดนตรีขึ้นใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2414 ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ ‘พระประดิษฐไพเราะ’ (มี ดุริยางกูร) ได้ดัดแปลงมาจากเพลงสรรเสริญนารายณ์ของเก่า ส่วนเนื้อร้องประพันธ์โดย ‘พระยาศรีสุนทรโวหาร’ (น้อย อาจารยางกูร) นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในปี พ.ศ. 2416 มีเนื้อเพลงว่า....

‘ความ สุขสมบัติ บริวาร . เจริญ พระปฏิภาณ ผ่องแผ้ว 
จง ยืนพระชนมาน . นับรอบ ร้อยแฮ . มี พระเกียรติเพริดแพร้ว . เล่ห์เพียงจันทร’

ต่อมาใน พ.ศ.2431 ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์’ ทรงคิดจัดคอนเสิร์ต ขึ้นในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่หน้าศาลายุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหม) โดยมี ‘ปโยตร์ ชูรอฟสกี้’ นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซียเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตก และ ‘สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์’ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบทำนองดังนี้…

...ข้าวรพุทธเจ้าเหล่าพิริย์ผลผลา . สมสมัยกาละปิติกมล . รวมนรจำเรียงพรรค์สรรดุริยพล
สฤติมณฑลทำสดุดีแด่นฤบาล . ผลพระคุณะรักษาพละนิกายะสุขสานต์
ขอบันดาลธ ประสงค์ใด . จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย . ดุจถวายไชยฉนี้ ฯ

ต่อมาได้ทรงแก้และทูลเกล้าฯ ถวายใหม่ในงานพระราชพิธีสรง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ’ ดังนี้…

ข้าวรพุทธเจ้า . เอามโนและสิรกราน . นบพระภูมิบาลบุญดิเรก . เอกบรมจักริน . พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง . เย็นศิราเพราะพระบริบาล . ผลพระคุณ ธ รักษา . ปวงประชาเป็นศุขสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด . จงสฤษดิ์ดังสิทธิ์ดังหวังวรหฤทัย . ดุจถวายไชย ฉนี้ ฯ

จนมาถึง ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 6 เด็กๆมักจะร้อง...ฉนี้...ชะนี ไปโดยมาก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนคำท้ายเป็น...ไชโย มาตั้งแต่บัดนั้น

ส่วนธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์หรือโรงมหรสพในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เช่นกัน โดยในยุคหนังเงียบ ต้องมีแตรวงหรือวงเครื่องสายผสมบรรเลงประกอบการฉายอยู่แล้ว และจะบรรเลงเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ถวายความเคารพเมื่อฉายจบหรือจบการแสดง โดยถือว่าเป็นสัญญาณปิดโรง ซึ่งแรกๆ คงบรรเลงอย่างเดียว ต่อมาจึงฉายกระจกพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นบนจอด้วย จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกโรงภาพยนตร์และโรงมหรสพในประเทศไทย โดยไม่มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ย้ำนะครับ ‘ไม่มีกฎหมายบังคับ’ !!!

ส่วนเยาวรุ่นที่ ‘เห่าหอน’ เมื่อเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ บรรเลงขึ้นและไม่เท่ที่ต้องยืนเคารพ เพราะการยืนเคารพคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งบังคับโดยองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย คุณจะไม่ยืนเขาก็ได้ไม่มีใครว่าอะไร เพียงแต่คุณอาจจะเป็นคนที่โคตร ‘ไม่รู้ภาษา’ และ ‘ไม่มีการศึกษา’ เอาซะเลย สมแล้วที่ถูกจูงจมูกไปไหนก็ได้โดยง่าย 

เรื่องระเบียบต้อง ‘ยืนเคารพ’ นั้นมาเกิดในช่วง 3 ปี หลังปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎร โดย ‘พระยาพหลฯ’ หัวหน้าคณะราษฎรได้ทำให้การยืนเคารพเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ในโรงภาพยนตร์เป็น ‘ระเบียบ’ ที่ต้องปฏิบัติตาม (แต่ยังไม่เป็นกฎหมาย) ซึ่ง ‘คณะราษฎรเป็นคนประกาศ’ นะครับ ย้ำ!!! 

ส่วนปฐมเหตุแห่งการ ‘บังคับยืนเคารพ’ โดยใช้ ‘กฎหมาย’ มาจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ผู้เป็นฮีโร่ของเยาวรุ่นพวกนี้ ซึ่งนายทหารและนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ ถึง 8 สมัย รวมระยะเวลากว่า 15 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด เป็นผู้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อวันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2482 โดยมีเนื้อความว่า.....

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติพึงได้รับการเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้ (ขออนุญาตแปลงเนื้อความเป็นภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน)

1. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับหรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

2. เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางการเชิญผ่านมาหรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม

3. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

4. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใดๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

5. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดังกล่าวในข้อ 1–2–3 และ 4 นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ประกาศมา ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2482
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

การออกกฎหมายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นั้นใช้อำนาจไปบีบบังคับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า อาทิตย์ทิพอาภา และ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (หนึ่งในคณะราษฏร) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งขณะนั้นพระองค์ยังทรงเป็นเพียง 

‘ยุวกษัตริย์’ โดยลงนามใน วันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480 และมาประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายในปี 2485 ซึ่งกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนไว้ใน พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 (ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติพ.ศ.2485) โดยมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท (ในสมัยนั้น) หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

จนกระทั่งในปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมเก่า โดยพระราชบัญญัติใหม่นี้ไม่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน เข้าใจไหมครับ ??? ฉะนั้นไม่ยืน ไม่ฟัง ก็ไม่ต้องเห่าหอนหรือออกมาห้อยโหน

แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือเรื่องที่ ‘คนบ้า’ คลั่งปฏิวัติ ไม่เคยเอามาเล่า (เหมือนเรื่องจากปฏิวัติฝรั่งเศสที่มันก็ไม่เคยเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น) คือ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ได้บังคับให้โรงภาพยนตร์จะต้องเปิดเพลง ‘มหาฤกษ์มหาชัย’ และให้ผู้ชมทุกคนยืนตรงเคารพท่านผู้นำในเพลง ‘สดุดีพิบูล-สงคราม’ ซึ่งจะถูกเปิดก่อนฉายภาพยนตร์ บทเพลงที่ ‘ครูแจ๋ว’ สง่า อารัมภีร์ เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้อง และ ‘พระเจนดุริยางค์’ เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ดังนี้... 

“ไชโย วีรชนชาติไทย . ตลอดสมัย ที่ไทยมี . ประเทศไทย คงชาตรี . ด้วยคนดี ผยองชัย
ท่านผู้นำ พิบูลสงคราม . ขอเทิดนาม เกริกไกร . ขอดำรง คงไทย ตลอดสมัย . เทิดไทย ชะโย”

ซึ่งถ้าไม่หลงอำนาจจริง ไม่มีทางทำได้ ต่อมาภายหลังเมื่อมีประกาศขอให้ผู้ชมลุกขึ้นยืนคารวะท่านผู้นำ จู่ จู่ ก็มีเสียงตะโกนว่า’กูไม่ยืนเคารพโว้ย ท่ามจอมพลไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของเรา’ แล้วก็ลามไปเรื่อย ครั้งแรกตำรวจก็จะเข้ามาจับ แต่พอจะจับคนนี้ คนนั้นก็ตะโกน พอจะไปจับอีกด้าน อีกด้านก็ตะโกนขึ้นอีก สุดท้าย จึงมีคำสั่งให้หยุดการทำความเคารพท่านผู้นำและเลิกเพลง ‘สดุดีพิบูล-สงคราม’ ในที่สุด (สมควรแล้ว) 

ปิดท้ายบทความนี้ผมอย่าจะเรียนว่า...เพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ นี้ เป็นธรรมเนียมนานาชาติที่มีแต่ ‘เมืองที่มีเอกราชสมบูรณ์’ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จงภูมิใจเถิดที่เรามีเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ โดยยืนให้โลกเห็นว่าเรามีเอกราช มีชาติ มีประเทศ มีอาณาเขต ที่เรียกว่า ‘ประเทศไทย’ อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager