เจ้าชายนักประดิษฐ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ผู้สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

เมื่อช่วงปีใหม่ผมมีโอกาสได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวิถีของชาวพุทธ โดยได้ไปสักการะ 'พระพุทธอังคีรส' ประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คำว่า 'อังคีรส' มีความหมายว่า 'มีพระรัศมีเปล่งออกมาจากพระวรกาย'

พระพุทธรูปองค์นี้ หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 ด้วยกะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415 ซึ่งใต้ฐานบัลลังก์ของ 'พระพุทธอังคีรส' นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พุทธลักษณะของ 'พระพุทธอังคีรส' ประกอบด้วยพระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก ไม่มีอุษณีษะ (ปุ่มด้านบนศรีษะ) มีพระรัศมีขนาดใหญ่เป็นเปลว พระกรรณสั้นเหมือนมนุษย์ปกติ ไม่ยาวเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป การครองจีวรห่มเฉียง มีริ้วแบบธรรมชาติ สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่เหมือนผ้าสังฆาฏิที่ใช้จริงแบบพระสงฆ์ทั่วไป นักวิชาการให้ความเห็นกันไว้ว่านี่คือพระพุทธรูปที่มีลักษณะ 'เทวดาครึ่งมนุษย์' ที่งดงาม ไร้ที่ติ ถึงตรงนี้ใครกันหนอ ? คือผู้ปั้นและหล่อ 'พระพุทธอังคีรส' องค์นี้ 

'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' พระองค์คือช่างปั้นและช่างหล่อท่านที่ผมสงสัยนั่นเอง พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของ 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์' ต้นราชสกุล 'ดวงจักร' เมื่อแรกประสูติ ทรงพระนามว่า 'หม่อมเจ้าดิศ' พระบิดาของพระองค์นั้น ทรงกำกับ 'กรมช่างหล่อ' (เป็น DNA จากพ่อสู่ลูกแน่ ๆ อันนี้ผมคิดเองนะ) ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' โดย 'ช่างหล่อ' เป็นหนึ่งในกลุ่ม 'ช่างหลวง' ที่เรียกกันว่า 'ช่างสิบหมู่' 

โดย 'ช่างหล่อ' มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการหล่อโลหะ เช่น การหล่อกลองมโหระทึก หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ การหล่อพระพุทธรูปโลหะทำได้โดยการใช้ขี้ผึ้งทำเป็นหุ่นแล้วละลายขี้ผึ้งจนเกิดที่ว่างในแม่พิมพ์ แล้วจึงเทโลหะหรือทองที่กำลังหลอมละลายเข้าแทนที่ จะได้เป็นรูปหล่อโลหะสำริด เรียกวิธีนี้ว่า 'ไล่ขี้ผึ้ง' ซึ่งก็คืองานวิจิตรศิลป ประเภทงานประติมากรรมนั่นเอง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก ๆ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเชื่อได้ว่า 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' คงจะได้เรียนรู้ ศึกษา และสั่งสมประสบการณ์ จาก 'พระบิดา' ของพระองค์นั่นเอง 

ผมคงไม่เล่าพระประวัติของพระองค์มากนัก แต่จะเล่าถึงความสามารถของพระองค์และงานปั้นที่พระองค์ได้ทรงปั้นไว้ดีกว่า 

เริ่มต้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ 4 ซึ่งในช่วงนั้น ฝรั่งเศสและอังกฤษ พยายามหาทางจะยึดครองสยามให้ได้ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาวิกฤติก็เกิดเหตุพลิกผันที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างอัศจรรย์ พระองค์จึงทรงดำริว่า เป็นไปได้ว่าน่าจะมีเทพยดาคอยพิทักษ์รักษาสยามอยู่ จึงสมควรจะสร้างรูปสมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้นเพื่อสักการบูชา จึงได้มีพระบรมราชโองการ ให้ 'พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น 'หม่อมเจ้าดิศ' รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ได้เป็นนายช่างเอกออกแบบเทพยดาองค์หนึ่ง ตามพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งใช้คติ 'มเหศักดิ์' หรือเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมืองมาจินตนาการแล้วปั้นขึ้นเป็น 'เทวรูปยืน' ทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระในท่าประทานพร มีขนาดสูง 8 นิ้ว หรือ 20 เซนติเมตร เป็นที่พอพระราชหฤทัยของ ร.4 เป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นแล้วถวายพระนามว่า 'พระสยามเทวาธิราช'

ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 'พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' ก็ได้ใช้ประสบการณ์ด้านงานปั้นและงานหล่อที่ฝึกฝนมายาวนานจนชำนาญในงานแขนงนี้มากกว่าใคร จนถือได้ว่าศิลปินเอกแห่งยุคนั้น มาปั้นพระพุทธรูปที่ใช้คติ 'เทวดาครึ่งมนุษย์' ที่สวยงามแตกต่าง ก่อนจะนำไปหล่อด้วย กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เมื่อคราวพระราชพิธีโสกันต์ เกิดเป็นพระพุทธรูปที่มีพระวรรณะเปล่งปลั่งงดงามที่สุด สมกับพระนามว่า

'พระพุทธอังคีรส' ซึ่งผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น 

พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งมาจากฝีมือของ 'พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' ที่จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้คือ พระประธานในพระอุโบสถของ 'วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ' โดยพุทธลักษณะแบบผสมผสานระหว่างประเพณีนิยมและตะวันตก รับกับตัวอุโบสถที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบกอธิกของยุโรป โดยพุทธลักษณะมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ จากขมวดพระเกศาไม่มีพระเกตุมาลา มีแต่พระรัศมี ครองจีวร อย่างพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ริ้วจีวร เลียนแบบธรรมชาติ นิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากัน ฐานพระเป็นฐานกลีบบัวหลายบนฐานสิงห์ประดับลวดลายอย่างวิจิตร ซึ่ง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยมาก โดยถวายพระนามว่า 'พระพุทธนฤมลธรรโมภาส'

ย้อนกลับไปตอนต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และได้สร้างผลงานสำคัญซึ่งปัจจุบันประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร นั่นก็คือพระบรมรูป 4 รัชกาล โดยพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 นั้นเป็นการปั้นขึ้นมาใหม่ โดยใช้ความทรงจำของเจ้านายที่ทันเห็นในหลวงทั้ง 3 รัชกาลมาสร้างงานปั้น โดยปั้นไป แก้ไป ซึ่งต้องนับว่า พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงมีความอดทนและความสามารถเป็นอย่างมาก เมื่อปั้นเสร็จก็ได้แก้ไขข้อบกพร่องของพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ที่ได้มีแบบปั้นอยู่แล้ว เมื่อเสร็จก็หล่อพระบรมรูปทั้งหมดในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยแรกเริ่มนั้นได้ประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดรในรัชสมัย 'พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ 6 

ส่วนงานที่ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' ยังดำเนินการไม่สำเร็จ แต่ได้ส่งต่อร่างต้นแบบที่สวยงามอัศจรรย์ใจ และยังปรากฏอยู่จนถึงวันนี้ นั่นก็คือการออกแบบภายนอกพระอุโบสถของ 'วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม' ที่ผมได้เข้าไปสักการะ 'พระพุทธอังคีรส' นั่นเอง โดย 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองอำนวยการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2412 แต่ยังไม่แล้วเสร็จพระองค์ก็ประชวรด้วย 'พระโรคคันธสูตปลายปัตฆาฏ' ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่พระองค์ทรงนั่งปั้นงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระองค์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2428 สิริพระชันษา 68 ปี เมื่อ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ' เป็นแม่กองอำนวยการสร้างต่อ 

แม้พระประวัติของ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' จะมีไม่มาก แต่ฝีมือเชิงช่างของพระองค์ยังคงเฉิดฉายและงดงาม ควรค่าแก่การสักการะ จวบจนปัจจุบันนี้ ผมขอก้มกราบฝีมือเชิงช่างของพระองค์อย่างหมดหัวจิตหัวใจ 

กราบ...


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager