เจ้าชายนักบิน ‘พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต’ พระโอรสบุญธรรมในรัชกาลที่ 7

สำหรับเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ หลายท่านคงเคยได้อ่าน ได้ยินผ่านหู ผ่านตากันมาบ้างแล้ว สำหรับ ‘เจ้าชาย’ พระองค์นี้ แต่หลายท่าน อาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวของพระองค์มาก่อน เพราะสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา แต่เรื่องราวของพระองค์มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันครับ

‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต’ มีพระนามลำลองว่า ‘เจอรี่’ เป็นพระโอรสพระองค์เล็กใน ‘สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช’ ประสูติแต่หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา โดยมีพระโสทรเชษฐาและเชษฐภคิณีรวม 4 พระองค์ ได้แก่…

1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา 
2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ 
3. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (พระองค์พีระ เจ้าดาราทอง) 
และ 4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์

ทุกพระองค์เมื่อประสูติมีพระอิสริยยศเป็น ‘หม่อมเจ้า’ ต่อมา ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนหม่อมเจ้าทั้งหมดขึ้นเป็น ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า’

เกี่ยวกับ สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระบิดานั้น พระองค์เป็นพระราชอนุชาร่วมพระโสทรใน ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 5 เป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ โดย สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ ทรงมีหม่อมหลายคน และมีพระโอรสธิดาเกินกว่า 10 องค์ 

และด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ด้วยการนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ จึงได้ทรงนำพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช มาถวายสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตั้งแต่พระองค์พีระฯ ทรงพระเยาว์ เป็นพระองค์แรก (ทำไม? ต้องพระองค์แรก) ก็เป็นที่โปรดปราน ทรงอุปถัมภ์โดยให้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ แต่พระองค์พีระฯ เกิดไปถูกชะตากับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทรงอยู่ที่ลอนดอน ก็เลยย้ายไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์จุลฯ 

สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ก็เลยทรงนำพระโอรสองค์เล็ก (พระองค์ที่ 2) ซึ่งกำพร้าหม่อมแม่มาทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เป็นอย่างยิ่ง โดยทรงทุ่มเทความรักและความเอาใจใส่ให้เหมือนบิดากับบุตรแท้ ๆ เรียกได้ว่ารักเหมือน ‘พระราชโอรส’ จนเมื่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ พระชนมายุได้ 13 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงส่งพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ไปศึกษาต่อที่อเมริกา เพราะทรงเกรงว่าถ้าส่งไปอังกฤษ ก็อาจจะไปพบพระองค์จุลฯ แล้วขอทูลลาไปอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระองค์จุลฯ เสียอีกองค์หนึ่ง อย่างที่เคยเกิดมาแล้วในกรณีพระองค์พีระฯ (แสดงว่าพระองค์จุล ฯ นี่ช่างดึงดูดทุกพระองค์จริงๆ) 

จากหนังสือ ‘ชีวิตเหมือนฝัน’ โดย ‘คุณหญิงมณี สิริวรสาร’ ได้บันทึกไว้ว่า...ทูลกระหม่อมทรงมีรับสั่งว่า ‘เล็ก’ (หมายถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ) นั้นคงต้องมีความสัมพันธ์กับพระองค์ท่านมาแต่ชาติปางก่อน เพราะลักษณะหน้าตาก็มีส่วนคล้ายคลึง รวมทั้งอุปนิสัยใจคอหลายอย่างก็มีส่วนเหมือนกัน เช่น เล็กชอบเครื่องตุ๊กกะฉึก (เป็นศัพท์ที่ทูลกระหม่อมทรงตั้งขึ้น หมายถึงเครื่องเล่นที่เป็นกลไกต่าง ๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า Gadgets) และชอบเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ เช่นเดียวกับพระองค์ ‘เล็ก’ เป็นเด็กนิสัยดี ไม่เคยอวดอ้างว่าเป็น ‘คนโปรด’ เลย

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงห่วงใยพระองค์จิรศักดิ์ฯ มาก มีพระราชหัตถเลขาถึงพระโอรสบุญธรรมทุกวันและรอจดหมายตอบทุกอาทิตย์ ความในพระราชหฤทัยต่างๆ นั้นก็ถ่ายทอดลงในจดหมาย เล่าให้พระโอรสบุญธรรมฟัง อย่างที่ไม่อาจจะทรงเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ ผมขอยกตัวอย่างเนื้อหาจดหมาย ลงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2475 มาให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้... 

ถึงลูกที่รัก

อาทิตย์นี้ฉันไม่ได้หนังสือจากเล็กอีกเป็นอาทิตย์ที่ 2 คงเป็นเพราะเมล์ แต่ก็เจ้ากรรมที่สุดที่มักจะยุ่งอย่างนี้ พร้อมกับเวลาที่ฉันไม่สบายที่สุดเสมอ หนังสือฉบับก่อนที่เขียนไปนั้น เล็กอาจเห็นว่าฉันตื่นอะไรต่างๆ ไม่เป็นเรื่อง แล้วก็ไม่มีเหตุยุ่งอะไร เพราะว่ากว่าหนังสือจะไปถึงเล็กเรื่องจะมีหรือไม่มีก็แล้วไปแล้ว

อย่างไรก็ดี พวกเราอยู่กันที่นี่กลัวกันจริงๆ และตกใจกันจริงๆ ด้วย เราทุกคนรู้ไม่ได้เลยว่าจะถูกเชือดคอเมื่อไร เสียวกันอยู่เสมอ พอมีลืออะไรกันทีหนึ่งก็ตกใจกันแทบตาย เพราะจะไม่เชื่อเสียงลือก็ไม่ได้ เข็ดจากคราวก่อนที่ไม่เชื่อกัน แล้วก็เกิดขึ้นจริงๆ เวลานี้มีเสียงลืออะไรก็ต้องเชื่อหมด ฉันเองก็เชื่อแน่ว่าความยุ่งยากในเมืองไทยจะต้องมีต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปี เพราะอะไรๆ มันยุ่งๆ ไปหมด ไม่มีใครไว้ใจกันหมดทั้งเมืองไทย เวลานี้เป็นนรกแท้ๆ

คิดถึงเหลือเกิน
จากพ่อ
ประชาธิปก

เนื้อความดูน่าสนใจนะครับ ข่าวลือในช่วงก่อนปฏิวัติ 2475 นั้นแรงจริงๆ แต่เอาไว้ครั้งหน้าค่อยมาเล่าดีกว่า พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เจริญพระชนม์ขึ้นเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี มาดดี กิริยามารยาทเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว ใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ดีอังกฤษ มีนิสัยดี มีความประพฤติเป็นสุภาพบุรุษแท้ แต่พระองค์ไม่ค่อยจะทรงถนัดทางวิชาการนัก แต่ทรงมีหัวด้านงานประดิษฐ์และเครื่องยนต์กลไก  นอกจากนี้ยังเก่งเรื่องขับรถและขับเครื่องบินเป็นพิเศษ โดยทรงเรียนขับเครื่องบินพร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแค่ 8 ชั่วโมง ก็ทรงบินเดี่ยวได้  หลังจากนั้นก็สอบประกาศนียบัตรนักบินได้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงซื้อเครื่องบินเล็กให้ลำหนึ่ง ท่านก็ขับเครื่องบินเข้าแข่งแรลลี่ได้ที่ 1 ซึ่งตอนนั้นพระองค์ยังไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย 

เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จฯ อเมริกา เพื่อทรงลอกต้อกระจก พอทรงหายดีแล้วก็เสด็จฯ ประพาสยุโรป พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ก็ทรงออกจากโรงเรียนที่นั่นตามเสด็จฯ ไปด้วยทุกหนทุกแห่งในฐานะ ‘พระโอรสบุญธรรม’ ได้มีโอกาสพบปะผู้นำและประมุขของประเทศต่างๆ ด้วย จนสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปประทับอยู่ในอังกฤษ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ก็เลยโยกย้ายจากอเมริกาเป็นการถาวรมาอยู่ที่อังกฤษด้วย

เมื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระชนมายุได้ 21พรรษา ได้ทรงหมั้นกับ ‘มณี เซเนียร์ บุนนาค’ สุภาพสตรีลูกครึ่งไทย - อังกฤษ นักเรียนทุน ก.พ. ธิดาของพระยาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) ราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เกิดแต่ภรรยาชื่อ ดอรีส วินดั้ม สตรีชาวอังกฤษ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2481 ส่วนพิธีมงคลสมรสจัดขึ้นที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน โดยมี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ในปีเดียวกัน

ตรงนี้มีเรื่องตลกก่อนพิธีเสกสมรส คือ พอรัฐบาลไทยทราบว่า ‘มณี บุนนาค’ นักเรียนทุน ก.พ. ลาออกจากมหาวิทยาลัยไปแต่งงาน ก็สั่งสถานทูตไทยระงับการออกหนังสือเดินทางให้เธอทันที และจะต่อให้เมื่อเธอจ่ายเงินทุนคืนย้อนหลัง 3 ปีตามที่เรียนมา ทั้งที่เอาจริงๆ เงื่อนไขทุนของ ก.พ. ไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไรเลย  นอกจากนี้  ในสัญญายังระบุอีกว่าถ้าผู้ได้ทุนหยุดเรียนหรือเลิกเรียนด้วยสาเหตุใดๆ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย เมื่อผู้เรียนกลับเมืองไทย รัฐก็ไม่ต้องหางานให้

ซึ่ง ‘มณี เซเนียร์ บุนนาค’ ประท้วงไม่ยอมจ่ายค่าชดใช้ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไกล่เกลี่ยด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้ตามที่รัฐบาลเรียกร้อง เพื่อให้เรื่องจบสิ้นกันไป โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงกล่าวกับเธอว่า “รัฐบาลทำเช่นนี้เพื่อบีบบังคับพระองค์ท่านให้จ่ายเงินแทนมณี เพราะรู้ว่าท่านเป็นประธานงานสมรส” นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงทราบว่าท่านทูตไทยถูกรัฐบาลตำหนิอย่างรุนแรง ที่ยอมให้ใช้สถานทูตเป็นที่ประกอบพิธีสมรส” เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯยอมจ่ายค่าชดเชยให้ ทุกอย่างก็เรียบร้อยอย่างรวดเร็ว คุณมณี ได้หนังสือเดินทางคืน เพื่อเดินทางไปฮันนีมูนในยุโรปได้ (นี่แหละรัฐบาลของคณะราษฏรในช่วงเวลานั้น) 

เมื่อหม่อมมณีตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนาม ‘ศักดิเดชน์’ จากพระนามาภิไธย ประชาธิปกศักดิเดชน์ เพื่อใช้เป็นชื่อราชสกุล แต่ทางรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ได้คัดค้านว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต อยู่ในราชสกุล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา อยู่แล้ว (ยุ่งไม่เลิกจริงๆ) ด้วยเหตุนี้จึงใช้ชื่อราชสกุล ‘ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา’ จึงได้นำมาใช้แทน (ก็ค้านกันนักนี่) ซึ่งก็มีเพียง พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ และทายาทที่ใช้ราชสกุลนี้ โดยพระองค์มีพระโอรส 2 คน ได้แก่…

1. หม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
2. หม่อมราชวงศ์ทิม ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษ โดยเป็นนักบินของหน่วยงาน A.T.A. (Air Transport Auxiliary) ซึ่งเป็นหน่วยขนส่งทางอากาศของกองทัพอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2485 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงขับเครื่องบินเพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือ เกิดหมอกลงจัด ทรงขับเครื่องบินชนภูเขา สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาได้ 25 ปี 

เป็น ‘เจ้าชาย’ นักบินที่มีพระชนมายุค่อนข้างสั้น แต่ด้วยความเป็นพระราชโอรสบุญธรรม ผมเลยอยากหยิบเรื่องราวของพระองค์มาเล่าไว้ ณ ที่นี้สักคราหนึ่ง 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager